Three-dimensional in vitro platform for medicinal plant extract screening of neuroprotective activity against amyloidogenesis


Principal Investigator


Co-Investigators

No matching items found.


Other Team Members

No matching items found.


Project details

Start date01/10/2021

End date30/09/2022


Abstract

ปัจจุบันนี้โลกเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย (Ageing Society) อย่างสมบูรณ์คือประชากรมีอายุยืนมากขึ้น ทำให้มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่มีอายุมากกว่า 65 ปีมีจำนวนสะสมมากขึ้นในทุก ๆปี โดยมีการคาดการว่าในปี ค.ศ.2050 ทั่วโลกจะมีประชากรผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นเป็น1.5 ล้านล้านคน หรือประมาณ 16% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จากโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ประชากรนิยมแต่งงานช้าลง มีบุตรน้อยลงทำให้มีลดลงของสัดส่วนประชากรในวัยแรงงานซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ขณะที่สัดส่วนของผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น นั่นย่อมหมายถึงการเพิ่มขึ้นของภาระค่าใช้จ่ายทั้งของภาครัฐ ชุมชน และครอบครัวในการดูแลคนผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้นระบบต่าง ๆในร่างกายก็เสื่อมถอย ไม่ว่าจะเป็นระบบหลอดเลือดและหัวใจหรือระบบประสาทเสื่อมถอยที่พบมากในผู้สูงอายุ ดังนั้นการหาแนวทางในการป้องกันการเกิดโรค หรือการชะลอการดำเนินของโรคในผู้สูงอายุจะเป็นประโยชน์ในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ อีกทั้งการดูแลสุขภาพที่ดีในผู้สูงอายุเป็นการขยายโอกาสการจ้างงานในผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นได้

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่าในปี ค.ศ.2020 มีจำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะความจำเสื่อมกว่า 50 ล้านคนทั่วโลกโดย 60% อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยมีปัจจัยเสี่ยงที่นำมาสู่การเกิดโรคสมองเสื่อมอันได้แก่ ความเครียดจากรายได้ การรับประทาน การออกกำลังกาย เป็นต้น นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมมีอัตราที่เพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของโรคกล่าวคือค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมระยะปานกลางสูงกว่าระยะเริ่มต้นประมาณ 1.4 เท่า ขณะที่ค่าใช้จ่ายในระยะรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่านั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทางสาธารณสุขเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน [18] จากข้อมูลทางสถิติพบว่าจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุก ๆปีและคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยความจำเสื่อมถึง 152 ล้านคนในปี ค.ศ2050 [1, 2] ดังนั้นหากไม่มีการชะลอหรือป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ นี่จะกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆปี

เนื่องมาจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยประชากรในประเทศเริ่มมีการตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญทางสุขภาพกันมากขึ้นดังจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคอาหารเสริมเพื่อสุขภาพเป็นจำนวนมาก แนวคิดในการนำเอาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ มาใช้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคที่สร้างความแข็งแรงด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของปัญหาด้านสุขภาพที่อาจตามมาเมื่ออายุมากขึ้น จะเห็นว่าการใช้พืชสมุนไพรมีต้นทุนที่ค่อนข้างถูกกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาแผนปัจจุบัน และประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางพันธุ์พืชอย่างมาก โดยพบว่าเรามีพืชสมุนไพรอยู่ประมาณ 11,625 ชนิด แต่มีเพียง 1,800 ชนิดเท่านั้นที่มีการระบุสรรพคุณและถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆนอกจากนี้ยังพบว่ามีเพียง 24 รายการเท่านั้นถูกขึ้นทะเบียนเป็นบัญชียาที่พัฒนาจากสมุนไพร ดังนั้นงานวิจัยทางด้านสมุนไพรเพื่อประเมินและนำเข้าสู่บัญชียาหลัก หรือศึกษาเพื่อการนำเอาสมุนไพรมาใช้ในการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อสรรพคุณในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และทางสังคม

ปัจจุบันนี้การทดสอบประสิทธิภาพของสมุนไพรมีข้อจำกัดหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น การคัดเลือกสายพันธุ์ การปลูก การเก็บเกี่ยว การสกัดเพื่อเก็บรักษาสารสำคัญในสมุนไพร รวมทั้งการทดสอบฤทธิ์ของสมุนไพรมีความแตกต่างกันของห้องปฏิบัติการสู่ห้องปฏิบัติการ ดังนั้นการสร้างแบบจำลองในห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจคัดเลือกได้ทีละมาก ๆจะช่วยลดเวลาและความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการได้ โดยแบบจำลองของในระดับเซลล์ที่กลุ่มผู้วิจัยสนใจคือแบบจำลองการเหนี่ยวนำให้มีการสร้างโปรตีนอะไมลอยด์ชนิดเบต้าในเซลล์ประสาท ซึ่งการสะสมที่ผิดปกติของโปรตีนชนิดนี้พบในผู้ป่วยสมองเสื่อมอันเนื่องมาจากโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) ดังนั้นการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดจากสมุนไพรที่สามารถลดการสะสมของโปรตีนอะไมลอยด์ชนิดเบต้าและปกป้องความเป็นพิษในเซลล์ประสาทในระดับห้องปฏิบัติการจะกลายเป็นสมุนไพรเด่น (Product champion) ที่สามารถนำไปศึกษาในระดับคลินิกเพื่อนำเข้าสู่บัญชียาหลัก หรือแม้กระทั่งการทดสอบสรรพคุณของสมุนไพรที่ใช้ในการประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มในการป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้


Keywords

No matching items found.


Strategic Research Themes


Publications

No matching items found.


Last updated on 2025-29-01 at 09:51