ธนาคารอาหารชุมชนและพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา


หัวหน้าโครงการ


ผู้ร่วมโครงการ

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


สมาชิกทีมคนอื่น ๆ


รายละเอียดโครงการ

วันที่เริ่มโครงการ01/10/2022

วันที่สิ้นสุดโครงการ30/09/2023


คำอธิบายโดยย่อ

ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ จำเป็นต้องมีการพัฒนาและวิจัยเพื่อความยั่งยืน ไม่เพียงแต่อนุรักษ์ไว้เช่นรูปปั้นในพิพิธภัณฑ์ หากแต่จำเป็นต้องสร้างประโยชน์และมีการนำมาใช้ในพื้นที่และชุมชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างยั่งยืน ซึ่งสนับสนุนการพึ่งพาตนเองของท้องถิ่นภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ร่วมกับการพัฒนาผลผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการเกษตรอย่างยั่งยืนมีความรับผิดชอบและลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาวะทางโภชนการและความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ที่สามารถผนวกองค์ความรู้เข้าไปสู่หลักสูตรการเรียนการสอนของเยาวชนในท้องถิ่น และพัฒนาไปในเชิงนโยบายท้องถิ่นและระดับประเทศในอนาคต

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ตั้งอยู่ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา ในด้านจังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ในท้องที่ 5 อำเภอ 10 ตำบล และ 30 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 391,689 ไร่ เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100 เมตร จนถึง 1,466 เมตร ป่าฮาลาและป่าบาลา เป็นป่าดงดิบชื้น หรือป่าฝนเขตร้อน มีความชื้นสูงตลอดปี ตั้งอยู่บริเวณตอนใต้สุดของประเทศไทย มีแนวป่าต่อเนื่องกับป่าเบลุ่ม ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย เมื่อรวมพื้นที่เข้าด้วยกันจัดได้ว่าเป็นป่าฝนเขตร้อนที่พื้นที่ใหญ่ที่สุดบนคาบสมุทรมาลายาพื้นที่มีฝนตกชุกปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมากกว่า 2000 มิลลิเมตรต่อปี

    สัณฐานวิทยาของดินในผืนป่าแห่งนี้เป็นบริเวณหน้าดินลึก มีพรรณไม้ขึ้นหนาแน่นมักมีเรือนยอดชิดกันและมักเป็นพืชในวงศ์ยาง (DIPTEROCARPACEAE) เช่น กระบาก สยาแดง สยาขาว สยาเหลือง ไข่เขียว ตะเคียน ชันตาแมว  ไม้ขนาดใหญ่ในวงศ์อื่นได้แก่ หยี ทองบึ้ง หลุมพอ กระบก กุหลิมหรือกระเทียมต้น ยวน และ กฤษณา นอกจากนี้ยังมีพืชในวงศ์หมากและหวาย (ARECACEAE) กระจายอยู่ทั่วไป เช่น หลาวชะโอน หมากพน จากเขา บังสูรญ์ กะพ้อสี่สิบหรือตาลเดียว หมากข้าวตอก และหวายอีกหลายชนิด ไม้พื้นล่างหรือพืชคลุมดินส่วนใหญ่เป็นพวกพืชตระกูลขิงข่า (ZINGIBERACEAE) สกุลที่สำคัญได้แก่ ข่าป่า กระวาน กระชายป่า ปุดและกาหลา ซึ่งมีหลายชนิดทั้งชนิดดอกสีขาว สีแดงและสีชมพู พืชพวกเฟิร์นสหลายสกุล จำนวนมาก เช่น เฟิร์นต้น ว่านกีบแรด และ สามร้อยยอดหรือโชน เป็นต้น บริเวณเขาหินปูน เช่น ผากล้วยไม้ ผานาคราช และ      เขาหัวนาค สภาพป่าเป็นป่าค่อนข้างโปร่งพื้นดินมีหินโผล่ขึ้นทั่วไป และไม้พุ่มลำต้นแคระแกรน ส่วนใหญ่สูงไม่เกิน 10 เมตร พรรณไม้เด่นได้แก่ สนสามพันปี แดงประดับผา นกนอน และสนทราย พืชชนิดอื่น เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง ว่านนาคราช และกล้วยไม้หลากชนิด รวมทั้งเห็ดที่เป็นแหล่งอาหารของประชาชนในพื้นที่อีกหลายชนิด นอกจากนี้ยังพบสัตว์ป่าหายากอาศัยอยู่ ได้แก่ กระซู่ สมเสร็จ กระทิง เสือโคร่ง เลียงผา และ ช้างป่า  โดยพืชหลายชนิดที่พบสามารถใช้เป็นแหล่งอาหารของชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงกับผืนป่าฮาลา-บาลามาช้านาน

    ชุมชนในพื้นที่ ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส โดยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรและรับจ้างทั่วไป มีรายได้เฉลี่ย 50,000 บาท/ครัวเรือน/ปี (สำนักงานพัฒนาชุมชน. 2560) การทำปศุสัตว์เพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นอาชีพเสริม เช่น วัวขุน ไก่ และแพะ และการปลูกพืชผักสวนครัวแบบผสมผสานทั้งเพื่อจำหน่ายและบริโภคในครัวเรือน (สวนสมรม) เช่น เงาะ ตะไคร้ ขิง ข่า ดาหลา โดยส่วนใหญ่ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนใหญ่เป็นของตนเอง และมีการค้าข้ามชายแดนไทย มาเลเซีย สร้างรายได้มูลค่าหลายล้านบาท แต่ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิค 19 มีการปิดพรมแดนทั้งทางบกและทางน้ำ ส่งผลให้รายได้ต่อครัวเรือนลดลง รายได้ลดลงจากความผันผวนของการจ้างงานและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสภาวะความยากจน ความมั่นคงทางอาหารและภาวะทางโภชนาการของครัวเรือนในชุมชน อันมีพื้นที่อาศัยติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา

          การศึกษานี้ เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถของชุมชนในการสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ครัวเรือนของตนเอง ในตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา โดยชุมชนหลายครัวเรือนในพื้นที่ มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า ทั้งที่เป็นอาหารและสมุนไพร เช่น สะตอ ลูกหยี ลูกเนียง รังแข หน่อดาหลา โดยนำมาปลูกเพื่อใช้ดอกเป็นส่วนประกอบในอาหารเช่น ข้าวยำ น้ำพริก และอาจใช้ในงานทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่าและเพื่อเก็บข้อมูลในเชิงอนุรักษ์องค์ความรู้และภูมิปัญญาของท้องถิ่น ผ่านการถ่ายทอดความรู้ทางพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethnobotany) ให้กับนักวิจัยชุมชนในพื้นที่ตำบลโละจูด เพื่อที่สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของพืชอาหาร ทั้งในครัวเรือน ในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลา ทำให้ประหยัดต้นทุนทางเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า เพื่อการบริโภค สร้างรายได้ ตลอดจนการคัดเลือกแม่ไม้ของพืชอาหารจากป่า เพื่อนำมาปลูกเป็นธนาคารอาหารภายในครัวเรือนของทีมนักวิจัยชุมชน และขยายผลต่อไปในอนาคต โดยทำงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ทุกขั้นตอนเพื่อเป็นแนวนโยบายในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าได้อย่างยั่งยืน


คำสำคัญ

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์


ผลงานตีพิมพ์

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


อัพเดทล่าสุด 2024-11-12 ถึง 15:05