การศึกษาองค์ประกอบทางเคมี ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและการยับยั้งแบคทีเรียของน้ำมันหอมระเหยจากพืชวงศ์ขิงบางชนิดในเขตจังหวัดราชบุรี


หัวหน้าโครงการ


ผู้ร่วมโครงการ

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


สมาชิกทีมคนอื่น ๆ


รายละเอียดโครงการ

วันที่เริ่มโครงการ01/10/2022

วันที่สิ้นสุดโครงการ30/09/2023


คำอธิบายโดยย่อ

บทคัดย่อ

ผืนป่าตะวันตกของประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในป่าผืนใหญ่ที่เหลืออยู่ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 18,000 ตารางกิโลเมตร ทอดตัวไปตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีอันเป็นชายแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทยและพม่า โดยในพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นเขตบรรจบซ้อนทับกันของกลุ่มพรรณพฤกษชาติ (Floristic Region) ถึง 3 เขต คือเขตพืชพรรณอินโด-พม่า (Indo-Burmese elements) พืชพรรณอินโด-จีน (Indo-Chinese element) และพืชพรรณมาเลเซีย (Malesian element) ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และการเข้าถึงได้ยากในบางพื้นที่ ทำให้มีโอกาสที่จะพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะพืชพรรณจากหลากหลายวงศ์อยู่เสมอนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

จังหวัดราชบุรีนับเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตผืนป่าตะวันตกตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีและมีทรัพยากรป่าไม้ที่ยังอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณสูง พืชวงศ์ขิงเป็นพืชสมุนไพรหนึ่งที่มีการกระจายพันธุ์อยู่อย่างแพร่หลายในเขตพื้นที่ดังกล่าว โดยพืชวงศ์นี้มีลักษณะพิเศษคือทุกส่วนจะมีสารองค์ประกอบหลักที่เป็นน้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรที่ให้กลิ่นเฉพาะตัว จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น เครื่องเทศปรุงแต่งรสอาหาร ยา และเครื่องสำอาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากพืชวงศ์ขิงมีคุณสมบัติในการนการต้านออกซิเดชัน และมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคที่เรียได้หลายชนิด ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไบโอเฮิร์บกรีนบ้านตะโกล่าง ที่มีความสนใจรวบรวบและปลูกพืชสมุนไพรตระกูลขิงจากพื้นที่ป่าและจากแหล่งอื่นๆ และสร้างรายได้จากการนำพืชวงศ์ขิงบางชนิดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีและสารออกฤทธิ์ในน้ำมันหอมระเหยที่มีประโยชน์จากพืชวงศ์ขิงบางชนิดในเขตจังหวัดราชบุรี จากนั้นนำน้ำมันหอมระเหยที่ได้มาทดลองทำต้นแบบผลิตภัณฑ์สบู่เพื่อทดสอบคุณภาพ และถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลการวิจัยสู่กลุ่มชุมชนที่สนใจ เกี่ยวกับการปลูก การเตรียมวัตถุดิบ และประโยชน์ที่ได้จากสารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตและรายได้ให้แก่ชุมชนเกษตรในอนาคต

แนวคิดโครงการ

พืชวงศ์ขิง (Zingiberaceae) 

    พืชวงศ์ขิง (Zingiberaceae)   เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า มีลักษณะเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับในแนวระนาบเดียวกัน ดอกเป็นช่อที่อาจจะเกิดบนยอดของลำต้นเหนือดินหรือเกิดจากเหง้าก็ได้ ลักษณะสำคัญคือมีกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยอยู่ในทุกส่วนของต้นโดยเฉพาะจากเหง้าหรือลำต้นใต้ดิน   พืชวงศ์ขิงมีการแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในแถบเอเชียยตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย พบว่าพืชวงศ์ขิงสามารถขึ้นได้ทั่วไปในป่าที่มีความชุ่มชื้น สมาชิกของพืชวงศ์นั้นมีประมาณ 45 สกุลและ 700 ชนิด (Williams et. al, 2004) สำหรับประเทศไทยมีพืชวงศ์ขิงประมาณ 25 สกุล 300 ชนิด (Larsen and Larsen, 2006) ในการวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากพืชวงศ์ขิงบางชนิดที่มีการสำรวจพบในจังหวัดราชบุรี ที่มีข้อมูลเบื้องต้นที่น่าสนใจแต่ยังมีการรายงานวิจัยที่ไม่เพียงพอในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

    1.กระชายป่า (Boesenbergia sp.)

    เป็นไม้ล้มลุก ที่มีลำต้นใต้ดินลักษณะเป็นแง่งหรือเหง้า หัวว่านมีสีน้ำตาลแถบเทาจนถึงสีน้ำตาลแถบแดงแตกออกเป็นกระจุกเลื้อยยาวเหมือนหัวขมิ้น  มีใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักาณะใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวหม่น มีพรายปรอททั่วแผ่นใบ ท้องใบมีสีออกแดง เนื้อใบละเอียด กาบใบมีสีแดง ส่วนดอกจะเป็นช่อออกแทรกอยู่ระหว่างกาบใบโคนต้น กลีบดอกสีชมพู  สรรพคุณทางยา ใช้เหง้าในการแก้โรคปากเปื่อย ขับระดูขาว แก้ปวดมวนท้อง ท้องเดิน แก้บิดมูกเลือด บำรุงกำลังและบำรุงหัวใจ (โชตินันท์ และคณะ, 2553)

    2. หงส์เหิน ( Globba winitii )

    หงส์เหินเป็นพืชมีดอกประเภทหัว มีเหง้าใต้ดินลักษณะคล้ายกระชาย ลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบรวมตัวกัน ใบเดี่ยว แผ่นใบรูปรี รูปขอบขนาน ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม ฐานใบสอบเรียวหรือรูปหัวใจ มีช่อดอกออกที่ปลายยอดของลำต้นเหนือดิน ชูตั้งขึ้น เอียงในแนวระนาบ หรือโค้งงอชี้ลงพื้นดิน ช่อดอกแบบ ช่อกระจุกแน่น ช่อเชิงลด ช่อกระจะ หรือช่อแยกแขนง ใบประดับมีสีสันสวยงาม เช่น สีม่วง สีแดง สีชมพู สีขาว สีเขียว และสีเหลือง ดอกขนาดเล็กหลุดร่วงง่าย สีเหลือง สีส้ม หรือสีขาว (ปิยเกษตร และคณะ, 2555)

    ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกเพื่อการค้าทั้งในไทยและส่งออกไปต่างประเทศ เช่น G. williamsiana พันธุ์สีชมพูอมม่วง Giant violet dancing girl และพันธุ์สีขาว White dragon สำหรับนำไปใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับหรือปลูกเป็นไม้กระถางตกแต่งอาคารบ้านเรือน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการใช้พืชสกุลหงส์เหินเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านทางตอนเหนือของอินเดีย เช่น เหง้าของหงส์เหินชนิด G. clarkei ใช้รักษาอาการไอ และเหง้าของ G. multiflora ใช้ทาแผลเพื่อบรรเทาอาการปวดและใช้เพื่อลดไข้ แต่ยังไม่มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพืชสกุลหงส์เหินมากพอ มีเพียงบางข้อมูลระบุว่า G. winitii C.H. Wright มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และ G. malaccensis มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์ (Manokam and Nuntawong, 2014., Chaiyasut  and Chansakaow, 2007., Anuthakoengkun and Itharat, 2014)

    3.ว่านธรณีเย็น (Kaempferia roscoeana Wall.)

   ลำต้นใต้ดินขนาดเล็ก หัวเป็นเหง้า รากเป็นเส้นฝอยคล้ายรากหญ้าคา เนื้อในหัวมีกลิ่นหอม ใบรูปวงรียาว ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ก้านใบสีเขียว ลักษณะกลมขนาดเล็ก ออกในลักษณะ 2 ด้าน ด้านบนแผ่นใบสีเขียว ด้านล่างแผ่นใบสีเขียวนวล เส้นกลางใบ และเส้นใบออกขนานกัน และขนาดเท่าๆ กัน นูนแลเว้าสลับกันทั้งทางด้านบนและด้านล่างใบ ดอกเป็นช่อสีเหลืองอมขาว แทงออกออกมาจากกลางลำต้นใต้ดิน มีสรรพคุณทางยาโดย

ใบและหัวกินเป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ โดยนำใบมาตำให้แหลกผสมน้ำซาวข้าวหรือน้ำเหล้า พอกดับพิษไข้ มีสรรพคุณดูดหนองรักษาแผลได้อย่างดี (โชตินันท์ และคณะ, 2553)

เชื้อแบคทีเรียที่ใช้ในการวิจัย 

    สายพันธุ์แบคทีเรียที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ Pseudomonas aeruginosa,  Escherichia coli และStaphylococcus aureus โดยการเลือกใช้สายพันธุ์ดังกล่าวเนื่องจากเป็นเชื้อก่อโรคส่วนใหญ่ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ที่สามารถพบได้ในโรงพยาบาลทุกระดับ (นิตยา และ มุทิตา, 2015)

    1. Pseudomonas aeruginosa (P.aeruginosa)

    P.aeruginosa เป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปท่อนเป็นพวกแอโรบิคแบคทีเรีย มีชีวิตอิสระในดิน น้ำทะเล ในลำไส้คนพบร้อยละ 10 พบในน้ำลายหรือผิวหนังที่เปียกชื้น เชื้อทนต่อสบู่ สารฆ่า เชื้อ ความร้อน ความเย็น ความแห้ง เชื้อจึงอยู่ได้นานในสภาวะแวดล้อมทั่วๆไป การติดเชื้อจาก P.aeruginosa จะไม่พบในคนปกติ จะพบในคนที่มีอาการเจ็บป่วยอย่างอื่นอยู่แล้วเมื่อเชื้อเข้าร่างกาย จะเจริญเติบโตในเนื้อเยื่อสร้าง Exotoxin และ Enzyme หลายชนิดการติดเชื้อพบในผู้ป่วยที่มีแผลไฟ ไหม้ น้ำาร้อนลวก โรคแทรกซ้อนได้แก่ปอดบวม โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ฝี หูอักเสบ ตาอักเสบ (จินตนา, 2549)

    2.  Escherichia coli (E.coli)

    E.coli เป็นแบคทีเรียแกรมลบรูปท่อน เคลื่อนที่ได้ อยู่ในกลุ่มโคลิฟอร์ม จัดเป็นเชื้อ 10 ฉวยโอกาส พบในลำไส้คนและสัตว์เลือดอุ่น เจริญเติบโตได้ในช่วงอุณหภูมิซึ่งเป็นแบคทีเรียประจำถิ่น เชื้อนี้สามารถใช้น้ำตาล Lactoseได้ จึงเรียกว่าเป็นกลุ่ม Lactose fermenter ท าให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งพบในสตรีที่ใส่สายสวนเป็นเวลานานทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (นงลักษณ์, 2547)

    3. Staphylococcus aureus (S.aureus)

    S.aureus เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในสกุล Staphylococcus วงศ์ Micrococcaceae ติดสีแกรมบวก ไม่เคลื่อนที่ ไม่สร้างสปอร์  S.aureus ให้โคโลนีสีขาวจนถึงสีทอง มีรูปร่างเป็นทรงกลม เมื่อแบ่งเซลล์จะ ติดกันเป็นกลุ่มคล้ายพวงองุ่น ในธรรมชาติ S.aureus เป็นเชื้อที่อยู่ตามร่างกาย เป็นปรสิตที่ผิวหนัง เนื้อเยื่อของคนและสัตว์เลือดอุ่น เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่นเกิดเป็นลักษณะของหนองฝี ติดเชื้อซึ่งไม่รุนแรง แต่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงได้ในกรณีที่ ผิวหนังเกิดบาดแผล หรือมี แผลที่ได้รับการผ่าตัด เชื้อนี้จะเข้าสู่เนื้อเยื่อชั้นในได้ ถ้าเข้ากระแสเลือดจะทำให้เยื่อบุหัวใจอักเสบ เฉียบพลันและแพร่กระจายออกไป (จินตนา, 2549)

การวัดความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ

    1.ความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระ  DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl) DPPH

    คืออนุมูลอิสระที่มีความเสถียร (stable free radical) เป็นสารที่นิยมนำไปใช้เป็นตัวชี้วัดความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของสารที่สนใจ ใช้หลักการของ DPPH• ในรูปของอนุมูลอิสระ  ที่อยู่ในสารละลายจะมีสีม่วงเข้ม  และดูดกลืนคลื่นแสงที่ความยาวคลื่น  515  นาโนเมตร (Lebeau et al, 2000) การสูญเสียอิเล็กตรอนอิสระให้กับโมเลกุลอื่น โดยมีตัวรับอิเล็กตรอนคือสารต้านอนุมูลอิสระหรือสารสกัดจากสมุนไพร  จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปออกซิไดซ์ (DPPH) ซึ่งการลดลงของอนุมูลอิสระดังกล่าวจะสังเกตได้จากการจางลงของสีม่วงในสารละลาย สามารถวัดการค่าการดูดกลืนคลื่นแสงที่ลดลงที่ความยาวคลื่นที่ 515 นาโนเมตร เป็นตัวชี้วัดของปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น หรือก็คือการลดลงของ DPPH ที่มีผลมาจากสารต้านอนุมูลอิสระ (กิตติพัฒน์ และ ปานทิพย์, 2560)

    2.ความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระ  ABTS [2,2’-azinobis-(3-ethyl-benzothiazoline-6-sulfonic  acid)]

    ใช้หลักการเหมือนกับการลดลงของอนุมูลอิสระ DPPH  แต่ในกรณี  ABTS•+ เป็นอนุมูลอิสระที่มีประจุเป็นบวก  ในสารละลายจะมีสีเขียวเข้ม และมีค่าการดูดกลืนแสงความยาวคลื่นสูงสุด (lmax) หลายค่า ได้แก่ 415, 645, 734 และ 815 นาโนเมตร แต่ทั่วไปแล้วจะนิยมใช้ความยาวคลื่นที่ 415 (Re et al,1999) และ 743 นาโนเมตร

 (Floegel et. al, 2011) ในการติดตามปฏิกิริยา โดยในการลดลงของการดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่นดังกล่าว จะใช้เป็นตัวชี้วัดปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น (สีเขียวขอสารละลายจางลง) ในการเตรียมอนุมูลอิสระของ ABTS  เพื่อใช้ทดสอบความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าในกรณีของ DPPH นั่นคือ ต้องนำเอา ABTS  ไปบ่มกับ  potassium  persulfate  ด้วยอัตราส่วน 1:0.5 (stoichiometry  ratio)  ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 12-16 ชั่วโมง (Re et al,1999) เพื่อให้ได้อนุมูลอิสระที่เป็นประจุบวกของ ABTS•+  ก่อนนำไปใช้ในการทดสอบปฏิกิริยาการต้านอนุมูลอิสระต่อไป

    กฤติกา นรจิต (2549) ได้ศึกษาประสิทธิภาพการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ เป็นสาเหตุการเน่าเสียของอาหารและการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพืช วงศ์ขิง 5 ชนิด ได้แก่ ขิง ข่า ขมิ้นชัน กระชายและเร่วหอม โดยการต้มกลั่นและการสกัดด้วยตัวทำละลาย 2 ชนิด คือ ปิโตเลียมอีเทอร์และเอทานอล พบว่าวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชวงศ์ขิงที่ ดีที่สุด คือการสกัดด้วยเอทานอล ซึ่งให้น้ำมันหอมระเหยสูงที่สุด เมื่อนำสารสกัดไปทดสอบ ประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย 4 ชนิดคือ E.coli, S.aureus, B.cereus และ L.monocytogenes พบว่า น้ำมันหอมระเหยของกระชายและเร่วหอม ที่ได้จากการต้มกลั่นสามารถ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ได้ทั้ง 4 ชนิดและมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย แกรมบวก 3 ชนิดได้ดีที่สุดคือ S.aureus, B.cereusและ L.monocytogenes

    นิตยา บุญทิม และคณะ (2561)ได้ศึกษาฤทธิ์การยับยั้งจุลินทรีย์ของพืชในวงศ์ Zingiberaceae ได้แก่ ว่านนางคำ พญาว่าน พญามือเหล็ก ว่านคันทมาลาและว่านจังงัง โดยนำสารสกัดแอลกอฮอล์ของพืชตัวอย่างดังกล่าว มาทดสอบกับจุลินทรีย์ทดสอบโดยวิธี disc diffusion method พบว่าความเข้มข้นต่ำสุดของว่านนางคำ สามารถยับยั้ง Staphylococus aureus ATCC29213, Escherichia coli O157H7, Candida albicans และ Aspergillus flavus มีค่าเท่ากับ 2.5, 40, 1.25 และ 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลาดับ ส่วนความเข้มข้นต่ำสุดของว่านพญามือเหล็กที่สามารถยับยั้ง Bacillus cereus, Bacillus subtilis และ S. aureus ATCC29213 มีค่าเท่ากันคือ 0.156 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตรส่วนสารสกัดจากพญามือ เหล็กและพญาว่านที่สามารถยับยั้งการเจริญของ C. albicans ที่ความเข้มข้นเท่ากับ 0.07 และ 0.62 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ผลการทดสอบการเจริญเติบโตของเชื้อราพบว่าความเข้มข้นต่ำสุดของพญามือเหล็กที่สามารถยับยั้ง A. flavus มีค่าเท่ากับ 0.62 มิลลิกรัม

ต่อมิลลิลิตร

    จักรพันธ์ จุลศรีไกวัล และคณะ (2549) ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของพืชวงศ์ Zingiberaceae จำนวน5 ชนิด ได้แก่ ข่า (A.galanga (L.) Swartx.) ขมิ้นชัน (Curcuma longa Linn.) ขมิ้นขาว (C.mangga Val.& Zijp.) ไพล (Z.cassumunar Roxb.) ไพลดา (Z.ottensii Valeton.) โดยศึกษาการสกัด 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ สารสกัดน้ำ สารสกัดแอลกอฮอล์ ทำการสกัดโดยวิธี continuous extraction และ น้ำมันหอมระเหยเตรียมโดยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ นำมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี ABTS (2,2’-azinobis–(3-ethylbenzothiazoline-6-sulfonic acid) เปรียบเทียบกับ Trolox (milligram of trolox per gram of sample) ผลการทดลองพบว่า ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสารสกัดแอลกอฮอล์ของขมิ้นชัน น้ำมันหอมระเหยและสารสกัดน้ำของไพล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุดในกลุ่ม โดยมีค่าเท่ากับ 187.543, 56.469 และ 32.058 mg/g ตามลำดับ

    วทันยา ลิมปพยอม และคณะ (2557) ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันหอมระเหยจากขิงอ่อนและขิงแก่พันธุ์ไทยที่ได้จากการสกัดด้วยวิธีต้มกลั่นและการสกัดด้วยเอทานอล  เมื่อวิเคราะห์สารหอมระเหยด้วยเครื่องแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปกโตรมิเตอร์ พบว่าการสกัดน้ำามันหอมระเหยด้วยวิธีการต้มกลั่น ทั้งจากขิงอ่อนสดและขิงแก่สดมี zingiberene มากที่สุด โดยน้ำมันหอมระเหยจากขิงอ่อนแห้งมี camphene มากที่สุด และน้ำมันหอมระเหยจากขิงแก่แห้งมี geranial มากที่สุด ส่วน absolute ที่สกัดด้วยเอทานอลพบว่า absolute ขิงอ่อนแห้งและขิงแก่แห้งมี zingiberene มากที่สุด และพบ gingerol ใน absolute ขิงอ่อนแห้งมากกว่าขิงแก่แห้ง น้ำมันหอมระเหยจากขิงแก่สดจากการต้มกลั่นมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ  2,  2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) สูงที่สุด โดยมีค่า %scavenging effect เท่ากับ 97.16% รองลงมาคือ น้ำมันหอมระเหยจากขิงแก่แห้งจากการต้มกลั่น 88.79% และ absolute ขิงแก่แห้งที่สกัดด้วยเอทานอล 84.81% ส่วนความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระไฮดรอกซิลของน้ำมันหอมระเหยจากขิงแก่แห้งจากการต้มกลั่นมีค่ามากที่สุด  คือ  99.18%  รองลงมา  คือ  น้ำมันหอมระเหยจากขิงแก่สดที่ได้จากการต้มกลั่น  82.54%  และ  absolute  ขิงแก่แห้งที่สกัดด้วยเอทานอล  76.00%  แต่น้ำมันหอมระเหยและ absolute จากขิงอ่อนมีประสิทธิภาพสูงกว่า 80% ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ DPPH และอนุมูลอิสระไฮดรอกซิล

    ปัจจุบันชุมชนในพื้นที่จังหวัดราชบุรี โดยเฉพาะชุมชนตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีได้มีความสนใจในการปลูกสมุนไพรตระกูลขิงจำนวนหลายชนิด มีการรวมรวมสรรพคุณต่างๆ ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน และได้นำมาใช้ประโยชน์ในการแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้นการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและการยับยั้งแบคทีเรียของน้ำมันหอมระเหยจากพืชวงศ์ขิงบางชนิดที่ยังมีข้อมูลน้อยหรือยังไม่มีการศึกษามาก่อน จะสามารถทำให้ชุมชนประยุกต์ใช้ประโยชน์จากพืชวงศ์ขิงที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด


คำสำคัญ

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์


ผลงานตีพิมพ์

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


อัพเดทล่าสุด 2025-02-01 ถึง 10:55