Application of biochar in anaerobic hybrid reactor for increasing efficiency and stability of biogas production from tapioca starch wastewater
Principal Investigator
Co-Investigators
Other Team Members
No matching items found.
Project details
Start date: 01/10/2022
End date: 30/09/2023
Abstract
ก๊าซชีวภาพที่ได้จากการบำบัดน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนภายในโรงงานได้เป็นอย่างดี แต่เทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียเหล่านี้ยังคงมีข้อจำกัดและมีประสิทธิภาพการกำจัดสารอินทรีย์ต่ำ ถ้าเราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำทิ้งอุตสาหกรรมเกษตรได้สูงขึ้น จะทำให้ใช้ระยะเวลาในการดำเนินระบบสั้นลง ส่งผลให้ระบบมีขนาดที่เล็กลง สามารถลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบ รวมไปถึงลดระยะเวลาในการคืนทุนของระบบ ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ สามารถเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาสนใจเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำทิ้งดังกล่าวมากยิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถนำเอาของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ และประโยชน์ที่ได้รับก็จะส่งผลกระทบอันดีต่อการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน และด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งของโรงงานเองและของประเทศ
ถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ (Biochar) คือวัสดุที่อุดมด้วยคาร์บอน ผลิตจากชีวมวล หรือสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้จากธรรมชาติ หรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ หญ้า ฟางข้าว เหง้ามันสําปะหลัง ซังและต้นข้าวโพด มูลสัตว์ กากตะกอนของเสีย เป็นต้น แม้กระทั่งมูลสัตว์นำมาผ่านกระบวนการเผาไหม้ที่มีการควบคุม อุณหภูมิและอากาศหรือจำกัดอากาศให้เข้าไปเผาไหม้น้อยที่สุดซึ่งกระบวนการเผาไหม้นี้ เรียกว่า “การแยกสลายด้วยความร้อนหรือกระบวนการไพโรไลซิส” ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนหรือมีออกซิเจนน้อยมาก นอกจากนี้ไบโอชาร์ยังเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์ม โดยวัสดุเศษเหลือจากการนำกากของผลปาล์มน้ำมัน ได้แก่ เศษกะลา เส้นใย และทะลายปาล์มเปล่า มาเผาเป็นเชื้อเพลิงให้กับหม้อต้มไอน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า อุณหภูมิที่ใช้ในการเผาไหม้ประมาณ 800-900 องศาเซลเซียสหลังจากการเผาทำให้เกิดเถ้าปาล์มที่มีลักษณะเป็นผงฝุ่น น้ำหนักเบา สามารถฟุ้งกระจายได้ง่าย โดยมีปริมาณโดยเฉลี่ย 1-2 ตันต่อวันสำหรับโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดกลางและขนาดใหญ่ (กำลังการผลิต 30-60 ตันต่อชั่วโมง) ซึ่งเถ้าปาล์มน้ำมันจะประกอบด้วย SiO2, Al2O3 และFe2O3 ประมาณร้อยละ 70 ที่ผ่านมามีการนำไบโอชาร์มาใช้ประโยชน์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสารปรับปรุงดิน หรือการนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งจากรายงานการวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าเมื่อไบโอชาร์ถูกเติมในระบบผลิตก๊าซชีวภาพสามารถลดระยะเวลาช่วง Lag time ได้ร้อยละ 44 และช่วยเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซชีวภาพได้ร้อยละ 25 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับค่าความเป็นด่างและค่าพีเอชที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไบโอชาร์มีความสามารถในการดูดซับและการตรึงเซลล์จุลินทรีย์ได้ดีเพราะมีความจำเพาะของพื้นที่ผิวสูงและมีรูพรุนบนพื้นที่ผิวจำนวนมาก นอกจากนี้ไบโอชาร์เป็นวัสดุที่ถูกประยุกต์ใช้ในการเพิ่มค่าความเป็นด่าง (Alkalinity) ในระบบผลิตก๊าซชีวภาพ ด้วยเหตุนี้ ไบโอชาร์จึงน่าจะมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับน้ำเสียที่มีปริมาณค่าอัลคาไลนิตี้ต่ำ เช่น น้ำเสียจากกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มปริมาณค่าอัลคาไลนิตี้และความเป็นบัฟเฟอร์ของระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงงานแป้งมันสำปะหลัง
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกแป้งมันสำปะหลังมากที่สุดในโลก ส่งผลให้ปริมาณน้ำเสียจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีจำนวนมาก อีกทั้งยังมีองค์ประกอบของสารอินทรีย์ในปริมาณสูง (มากกว่า 20,000 มก./ล.) ถ้ามีการจัดการน้ำเสียไม่ดี ก็จะส่งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และทางด้านสังคม ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการนำไบโอชาร์ (ฺBiochar) ที่ได้จากวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติ มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เป็นวัสดุดูดซับ (Absorption) และใช้ตรึงเซลล์จุลินทรีย์ (Immobilization) ในถังปฏิกรณ์แบบลูกผสมที่บำบัดน้ำเสียจากโรงงานแป้งมันสำปะหลัง โดยให้จุลินทรีย์ที่เกาะบนวัสดุตัวกลางอยู่ทางด้านบนของถังปฏิกรณ์ และคาดว่าไบโอชาร์จะสร้างความเป็นบัฟเฟอร์ (Buffering ability) ให้กับระบบ และช่วยส่งเสริมความสามารถในการถ่ายโอนอิเล็กตรอน (Electron transfer ability) ของจุลินทรีย์ในระบบผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลให้จุลินทรีย์ในระบบมีความสามารถในการใช้กรดอินทรีย์ในระบบได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ทำให้สามารถผลิตมีเทนได้สูงขึ้น และส่งผลต่อเสถียรภาพในการบำบัดน้ำเสียของระบบในระยะยาว
Keywords
- ก๊าซชีวภาพ,ไบโอชาร์, การใช้ประโยชน์จากของเสีย, วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร, เสถียรภาพ
Strategic Research Themes
Publications
No matching items found.