เชื้อเพลิงอัดแท่ง กระถางเพาะชำ ถ่านดูดกลิ่นและวัสดุปรับปรุงดิน จากสิ่งเหลือทิ้งที่มาจากมะพร้าวน้ำหอม : กรณีศึกษาการจัดการอย่างยั่งยืนในภาคกลางของประเทศไทย
หัวหน้าโครงการ
ผู้ร่วมโครงการ
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
สมาชิกทีมคนอื่น ๆ
รายละเอียดโครงการ
วันที่เริ่มโครงการ: 01/10/2022
วันที่สิ้นสุดโครงการ: 30/09/2023
คำอธิบายโดยย่อ
มะพร้าวน้ำหอมเป็นผลผลิตที่มีมากในพื้นที่ภาคกลาง และภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกและให้รสชาดหวานเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ทำให้มะพร้าวน้ำหอมมีการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เกิดเศษมะพร้าวน้ำหอมเหลือทิ้งที่มีปริมาณมากขึ้นตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น การจัดการเศษมะพร้าวน้ำหอมเหลือทิ้งเพื่อการนำมาใช้ใหม่ และเพิ่มมูลค่าสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ยังมีอยู่อย่างจำกัด จำเป็นต้องอาศัยความรู้ในหลายศาสตร์ และนวัตกรรมเพื่อการจัดการอย่างยั่งยืนและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อใช้ในพื้นที่ หรือจำหน่ายต่อไป ดังนั้น โครงการวิจัยนี้จึงเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างนักวิจัย 3 สาขาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้แก่ เทคโนโลยีพลังงาน เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีวัสดุ และนักวิชาการพัฒนาชุมชน จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสงคราม และวิสาหกิจชุมชนผักและผลไม้ดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแปรรูปของเสียจากเศษมะพร้าวน้ำหอมให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยการจัดการอย่างยั่งยืน ด้วยการผลิตเป็น เชื้อเพลิงอัดแท่ง กระถางเพาะชำ ถ่านดูดกลิ่นและวัสดุปรับปรุงดิน ด้วยการทำวิจัยพื้นฐานเพื่อหาสัดส่วนผสม และปัจจัยต่างๆ ที่มีต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยนำวัสดุเหลือทิ้งจากเศษมะพร้าวน้ำหอมต่างๆ ได้แก่ กาบอ่อน กาบและกะลา และจั่นมะพร้าว ซึ่งมีสมบัติทางกายภาพและเคมีแตกต่างกัน มาศึกษาวิจัยด้วยการแปรรูปเศษขยะของมะพร้าวน้ำหอมดังกล่าวด้วยนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีพลังงาน การออกแบบและจัดการทางวิศวกรรม การใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ในการวิเคราะห์และนำของเสียไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนการประเมินการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตและการประเมินทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ ทำการวิจัยเพื่อผลักดันเศรษฐกิจด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG และตรงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 2 No hunger ที่ส่งเสริมการทำการเกษตรที่ยั่งยืน เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ โอกาสในการเพิ่มมูลค่า และ เป้าหมายที่ 12 Responsible consumption ที่ลดการปล่อยของเสีย โดยการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และนำมาใช้ซ้ำ โดยจะเลือกจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างได้แก่ จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการจัดการเศษมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการวิจัยร่วมกับการเรียนการสอนของนักศึกษา นักวิจัย และการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในพื้นที่ โครงการวิจัยนี้มีระยะเวลา 2 ปี โดยปีที่ 1 เน้นการสร้างองค์ความรู้ของการนำวัสดุเหลือทิ้งจากมะพร้าวน้ำหอม ที่มีองค์ประกอบทางกายภาพและเคมีแตกต่างกันมาใช้ประโยชน์ หาสัดส่วนที่เหมาะสมและขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และการผสมกับถ่านชีวภาพจากเศษมะพร้าวเหลือทิ้ง และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ และปีที่ 2 เป็นการพัฒนาต่อยอดให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการจากการวิเคราะห์ผลทางด้านสังคม เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนแต่ละพื้นที่ วิเคราะห์วัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เพื่อหาคาร์บอนฟุตพริ้นท์และประเมินผลกระทบเชิงประสิทธิภาพนิเวศของผลิตภัณฑ์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีไปในวงกว้างขึ้น ระเบียบวิธีวิจัยสำหรับปีที่ 1 ประกอบไปด้วย 4 ระยะการศึกษา ได้แก่ (1) การเตรียมวัสดุและผลิตถ่าน (2) การหาสัดส่วนผสมและการขึ้นรูป เพื่อทำเชื้อเพลิงอัดแท่ง ถ่านดูดกลิ่น กระถางเพาะชำและวัสดุปรับปรุงดิน (3) การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การเรียนการสอน การอบรมให้กับชุมชนและผู้สนใจ (4) การประเมินทางด้านสังคม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม โดยขอสนับสนุนงบประมาณเป็นเงินทั้งสิ้น 1,141,600 บาท โดยในปีที่ 1 (งบประมาณ 2566) เป็นเงิน 700,400 บาท โครงการวิจัยนี้ทำให้ได้ผลผลิต ที่เป็นองค์ความรู้ กระบวนการผลิต ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับประเทศ และในที่ประชุมวิชาการระดับประเทศ โดยมีผลลัพธ์ทำให้ชุมชนได้รับความรู้ และปรับความคิดในการจัดการเศษมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน และในเชิงวิชาการด้านการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา โดยจะมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากการนำวัสดุเหลือทิ้งไปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้ชุมชนตระหนักในสิ่งแวดล้อมและทราบกระบวนการผลิตเพื่อผลิตเป็นสินค้าจำหน่ายสร้างรายได้เสริม นอกจากนี้นักวิจัยในโครงการวิจัยได้มีประสบการณ์ในการลงพื้นที่และการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ ตลอดจนเชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้
คำสำคัญ
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์
ผลงานตีพิมพ์
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง