การศึกษาการเดินทางอัจฉริยะสำหรับกรุงเทพฝั่งตะวันตก


หัวหน้าโครงการ


ผู้ร่วมโครงการ


สมาชิกทีมคนอื่น ๆ

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


รายละเอียดโครงการ

วันที่เริ่มโครงการ01/10/2022

วันที่สิ้นสุดโครงการ30/09/2023


คำอธิบายโดยย่อ

เมื่อผลกระทบเชิงลบของการถือครองพาหนะ มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น การบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้น สภาพจราจรติดขัด และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ผู้เดินทางจึงเริ่มมองหาทางเลือกอื่น การเดินทางแบบแบ่งปัน (Shared Mobility) เป็นการให้บริการที่ทำให้ผู้ใช้งาน สามารถแบ่งปันรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย และใช้บริการเมื่อจำเป็น เกิดเป็นทางเลือกหลักสำหรับปัญหาการขนส่งที่มีอยู่  การให้บริการแบบแบ่งปัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามประเภทพาหนะ ได้แก่ การแบ่งปันยานยนต์ (Automotive Vehicle Sharing) และ การแบ่งปันไมโครโมบิลิตี้ (Micro Mobility Sharing หรือ Personal Mobility Sharing)  การแบ่งปันยานยนต์พาหนะ ประกอบด้วยการให้บริการแบ่งปันรถยนต์ (Car Sharing Service) และ การให้บริการแบ่งปันการขับขี่ (Ride Sharing Service)   การให้บริการแบ่งปันรถยนต์ อนุญาตให้ผู้ใช้บริการใช้รถยนต์แบบแบ่งปัน (คล้ายบริการรถยนต์เช่ารายชั่วโมง) แทนที่การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยจ่ายค่าธรรมเนียมการลงทะเบียน (Subscription Fee)  เช่น Haup การให้บริการแบ่งปันการขับขี่ อนุญาตให้ผู้เดินทางหลายคนร่วมเดินทางบนเส้นทางเดียวกัน หรือบางส่วนของเส้นทางเดียวกัน ในพาหนะคันเดียวกัน เช่น Grab Shuttle  การวิเคราะห์ความตั้งใจของผู้ใช้ มีความสัมพันธ์กับการพยากรณ์อุปสงค์และการประเมินทางเศรษฐศาสตร์   การคาดการณ์ทิศทางที่ถูกต้องในการจัดหาการให้บริการที่มาจากความต้องการของผู้ใช้ จะต้องทำการวิเคราะห์ความตั้งใจในการใช้ระบบการเดินทางแบบแบ่งปัน  การสำรวจข้อมูลสำหรับประชากรที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฝั่งตะวันตก จะเป็นการวิเคราะห์ความตั้งใจในการใช้ประเภทการให้บริการเดินทางแบบแบ่งปันแบบต่างๆ โดยใช้แบบจำลองถดถอยโลจิสติกส์ เพื่อหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการของผู้ใช้ และให้คำแนะนำแนวทางในการจัดเตรียมการให้บริการแบบแบ่งปัน โดยพิจารณาจากความตั้งใจของผู้ใช้

จากการต่อยอดการพัฒนายานยนต์พลังงานสะอาด ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicles) เป็นนวัตกรรมการขับขี่ระบบอัตโนมัติที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขับขี่และลดการพึ่งพามนุษย์ในการควบคุมยานพาหนะบนท้องถนน รวมถึงยังทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้เวลาที่อยู่บนยานยนต์ไร้คนขับให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หลายประเทศทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญต่อการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ และมีบางประเทศที่มีการอนุญาตให้วิ่งทดสอบยานยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ประสิทธิภาพการทำงานของยานยนต์ไร้คนขับจะขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านความสามารถในการเรียนรู้ของตัวยานพาหนะ องค์ประกอบและสภาพการจราจรบนถนน และลักษณะทางกายภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านถนน ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่ายานยนต์ไร้คนขับจะสามารถเดินทางร่วมกับยานพาหนะประเภทอื่นๆ บนท้องถนนที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ประเทศต่างๆจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมในแต่ละด้านสำหรับรองรับการใช้งานยานยนต์ไร้คนขับ  ปัจจุบันได้มีการศึกษาความพร้อมการใช้งานยานยนต์ไร้คนขับในแต่ละประทศ จากรายงาน Autonomous Vehicles Readiness Index (AVRI) ได้มีการสำรวจข้อมูลด้านต่างๆ ใน 25 ประเทศ โดยคัดเลือกจากขนาดเศรษฐกิจและความก้าวหน้าในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับของแต่ละประเทศ การประเมินความพร้อมจะทำภายใต้ 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1) นโยบายและกฎหมาย 2) เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3) โครงสร้างพื้นฐาน และ 4) การยอมรับของผู้บริโภค โดยแต่ละด้านจะถูกให้น้ำหนักคะแนนที่เท่ากันและใช้ทั้งข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิในการประเมิน  จากสถานการณ์และทิศทางการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับที่มีความชัดเจนมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเกิดการใช้งานจริงบนท้องถนนเร็วกว่าการคาดการณ์ การเตรียมความพร้อมในระดับประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้งานยานยนต์ไร้คนขับเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีนโยบายที่เหมาะสมในบริบทของประเทศสำหรับการใช้งานยานยนต์ไร้คนขับ และส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้งานร่วมกันระหว่างยานยนต์ไร้คนขับและยานยนต์ประเภทอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย

    ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นทั้งยานพาหนะที่ประหยัดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้น้ำมัน ยานยนต์ไฟฟ้าใช้พลังงานจากแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟภายในรถ ทำให้มีข้อได้เปรียบอีกมาก เช่น แทบไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือมลพิษ คุ้มราคาและมีเสียงรบกวนน้อย ข้อเสียหลักของยานยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการอัดประจุพลังงานไฟฟ้า และเครือข่ายสถานีอัดประจุที่ไม่ทั่วถึง ทั้งนี้แนวทางที่จะจัดการกับปัญหานี้คือการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมปริมาณการใช้งานทั้งในปัจจุบันและอนาคต ควรมีการวางแผนและคาดการณ์ความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นและระบุพื้นที่สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เหมาะสม  เพื่อป้องกันปริมาณไฟฟ้าไม่พอเพียงต่อการใช้งานของชุมชนในพื้นที่และเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้สูงสุด ในขณะที่เราเห็นสัญญาณว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะกลายเป็นยานยนต์มาตรฐานในไม่ช้า สิ่งที่นักวางแผนต้องเตรียมก็คือความสามารถของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับภาระที่เพิ่มขึ้นที่คาดไว้บนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) จะช่วยหาทางแก้ปัญหาสำหรับปัญหานี้ได้ ซึ่งปัญหาที่สำคัญของการปรับเปลี่ยนไปสู่โครงสร้างยานยนต์ไฟฟ้าคือความต้องการการอัดประจุไฟฟ้าที่รวดเร็ว ทำให้ต้องมีการวางแผนการขยายเครือข่ายในพื้นที่ที่เหมาะสมและศึกษาปริมาณความต้องการการใช้ไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

พื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรีเป็นพื้นที่ที่มีโครงข่ายของคลองธรรมชาติที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ และนับว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของเมืองเนื่องจากลักษณะทางภูมิประเทศดั้งเดิมของพื้นที่ในฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครเป็นเรือกสวนไร่นาซึ่งมีโครงข่ายคลองเดิมอยู่อย่างทั่วถึง ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เมืองในกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตกมีการขยายตัวของเมืองและเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ทำให้การขยายตัวของเมืองในฝั่งตะวันตกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของเมืองเป็นไปตามเส้นทางรถไฟฟ้า ทำให้ผู้คนมีทางเลือกมากขึ้นในการวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาคลองและเส้นทางเดินเรือที่มีจุดตัดกับสถานีรถไฟฟ้าสามารถเป็นทางเลือกให้กับผู้เดินทางในการใช้การเดินทางสาธารณะที่สามารถวางแผนการเดินทางได้ นอกจากนั้นแล้ว การใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ฝั่งธนบุรี เป็นการใช้ที่ดินแบบผสมผสาน กล่าวคือเป็นการใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและเพื่อการเกษตรกรรม ทำให้เกิดชุมชนริมคลองที่มีเอกลักษณ์ มีศักยภาพในการรองรับการเดินเรือเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ เช่น เพื่อการท่องเที่ยว ทำบุญ และวิจัย เป็นต้น  การพัฒนาระบบการเดินเรือสาธารณะในพื้นที่ฝั่งธนบุรีนั้นมีวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มทางเลือกในการเดินทางของผู้โดยสาร มีการเชื่อมต่อระหว่างการเดินทางทางบกและการเดินทางทางน้ำ การศึกษาท่าเรือ เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง รถไฟ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวมีการพัฒนาเชิงสังคมและเศรษฐกิจผ่านการเดินทางทางน้ำ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อกำหนดรูปแบบของการเดินทางทางน้ำที่เหมาะสมกับบริบท และเพื่อส่งเสริมทางเลือกในการเดินทางที่ยั่งยืน ส่วผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยหาความเป็นไปได้ในการออกแบบเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ระบบการเดินเรือร่วมกัน (Shared Boat – on demand) และการเดินเรือแบบไร้คนขับในอนาคต (Automated boat)

การใช้พลังงานในภาคขนส่งทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีปริมาณที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจราจรที่ติดขัดและปัญหาการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ โดยการใช้พลังงานดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าส่งผลกระทบสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน ในขณะเดียวกัน การเดินทางทางน้ำในกรุงเทพมหานครเริ่มมีบทบาทที่สำคัญและเป็นทางเลือกของคนเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจราจร เนื่องจากการขยายตัวของเมืองเป็นไปตามเส้นทางรถไฟฟ้า ทำให้ผู้คนมีทางเลือกมากขึ้นในการวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากยานยนต์ที่ใช้ในการเดินทางทางน้ำส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ยังเป็นยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลประเภทเก่าที่ไม่มีมาตรฐานการปล่อยไอเสียบังคับที่ชัดเจน ประกอบกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ต่ำ ส่งผลให้ประโยชน์ที่จะได้จากการปรับเปลี่ยนการเดินทางทางถนนมาเป็นการเดินทางทางน้ำอาจไม่เป็นประโยชน์ตามความคาดหวังได้ เพื่อส่งเสริมการสรรหาทางเลือกในการเดินทางที่ยั่งยืนให้แก่คนกรุงเทพมหานคร ระบบการเดินทางทางน้ำ เช่น เรือสาธารณะ จึงต้องได้รับการออกแบบให้ประหยัดพลังงานและปล่อยมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ไม่สร้างผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เนื่องจากยังไม่มีการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานและการระบายมลพิษทางอากาศจากการเดินทางทั้งทางถนนและทางน้ำในกรุงเทพมหานครตะวันตก เพื่อใช้เป็นเป็นข้อมูลพื้นฐานในการหาแนวทางการลดการใช้พลังงานและการระบายมลพิษจากการเดินทางดังกล่าวได้ โครงการวิจัยนี้ จึงขอเสนอทำการศึกษาวิเคราะห์การใช้พลังงานและการระบายมลพิษทางอากาศจากกิจกรรมการเดินทางทางถนนและทางน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก และนำผลวิเคราะห์มาจัดทำฐานข้อมูลพื้นฐานของการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก ที่สามารถนำมาใช้ในการวางแผนและประเมินการลดการใช้พลังงานและการระบายมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจกภายใต้ภาพฉาย (scenarios) การเดินทางในรูปแบบต่าง ๆ  เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย


คำสำคัญ

  • การขนส่งสาธารณะทางคลอง
  • การเดินทางแบบแบ่งปัน
  • พลังงาน
  • มลพิษ
  • ยานยนต์ไฟฟ้า
  • ยานยนต์ไร้คนขับ


กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์


ผลงานตีพิมพ์

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


อัพเดทล่าสุด 2025-02-01 ถึง 10:53