A novel framework for developing human activity analysis systems using user-centered design


Principal Investigator


Co-Investigators


Other Team Members

No matching items found.


Project details

Start date01/10/2022

End date30/09/2023


Abstract

ในมุมมองของผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน การประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนจัดกิจกรรมโดยใช้สถานที่จริง เป็นสิ่งจำเป็นในการจัดกิจกรรม ทั้งเป้าหมายด้านการค้า การเผยแพร่ข้อมูล และการเรียนรู้ ปัญหาหลักในการประเมินความคุ้มค่า คือข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์อาจไม่สามารถตอบสนองการวัดผลสำหรับเป้าหมายกิจกรรมที่มีความซับซ้อนได้ ยกตัวอย่างการใช้ตัวเลขโดยรวมเชิงปริมาณ เช่น ปริมาณผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เก็บบันทึกหน้าประตูทางเข้า ไม่อาจนำมาอธิบายลำดับการทำกิจกรรมในพื้นที่จัดกิจกรรมของผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ ทั้งในเชิงตำแหน่งกิจกรรมและเวลาในการทำกิจกรรม ข้อมูลพฤติกรรมในเชิงสถานที่และเวลา จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการวิเคราะห์เป้าหมายที่มีความซับซ้อน นอกจากการประเมินความคุ้มค่า ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำกิจกรรมยังเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการกิจกรรม และการวางแผนกิจกรรมล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ


อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการทำกิจกรรมของแต่ละองค์กร หรือของแต่ละกิจกรรมที่จัดขึ้น อาจมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะ สำหรับกิจกรรม พื้นที่ และสถานการณ์ที่ต่างกัน ซึ่งนำไปสู่วิธีการเลือกใช้หรือการพัฒนาวิธีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ใช้งานระบบสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ ไปใช้ในการตอบคำถาม รวมทั้งแก้ปัญหาเฉพาะอย่างตามความต้องการที่แท้จริงได้ กล่าวได้ว่าวิธีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลแบบหนึ่ง ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้ทั้งหมด การออกแบบระบบวิเคราะห์ข้อมูลโดยเน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (User-centered design) ทั้งในมุมมองผู้จัดกิจกรรมและผู้ร่วมกิจกรรม จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ระบบสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเซนเซอร์และเทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สายในปัจจุบัน ส่งผลให้การเก็บข้อมูลพฤติกรรมการทำกิจกรรม ทำได้สะดวกขึ้นด้วยราคาที่ต่ำลง ทั้งยังสามารถพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ การใช้ข้อมูล และการเผยแพร่ข้อมูลเชิงพฤติกรรม ที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลที่หลายหลายได้อีกด้วย ความหลากหลายของเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลเชิงพฤติกรรมมีคุณประโยชน์และข้อจำกัดที่ต่างกัน ซึ่งทำให้เกิดโอกาสในการคัดสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้เก็บข้อมูลพฤติกรรมการทำกิจกรรมของคนในพื้นที่ที่ต้องการศึกษา


ภารกิจหลักของโครงการวิจัยนี้ คือการพัฒนากรอบความคิดมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์พฤติกรรมการทำกิจกรรมของคนในสถานที่จริง โดยใช้เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลพฤติกรรม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ของผู้ใช้งานระบบได้ ทั้งด้านการวิเคราะห์ที่มาและคำตอบของปัญหา การจัดการและวางแผนกิจกรรมที่จัดบนพื้นที่จริง โดยที่โครงการวิจัยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ 

1) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพปัจจุบันของเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของคน 

2) เพื่อใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ในการเก็บข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์พฤติกรรมการทำกิจกรรมของคน 

3) เพื่อสร้างกรอบความคิดมาตรฐาน สำหรับการวิเคราะห์พฤติกรรมการทำกิจกรรมของคน

4) เพื่อสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายในการถ่ายทอดและแบ่งปันองค์ความรู้


โครงการวิจัยนี้กำหนดวิธีดำเนินการวิจัยโดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยเริ่มจากการกำหนดขอบเขตของปัญหาตามวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยในระยะที่ 1 ประกอบด้วยการทบทวนวรรณกรรมและกรณีศึกษา เพื่อจัดกลุ่มประเภทกิจกรรมที่จัดในสถานที่จริง และสำรวจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม จากนั้นทำการวิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหาในระยะที่ 2 ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ รวมทั้งเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมในสถานที่จริง โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ของผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ข้อมูลทั้งหมดจะนำมาเป็นองค์ประกอบในการพัฒนากรอบแนวคิดมาตรฐานสำหรับพัฒนาระบบวิเคราะห์พฤติกรรมการทำกิจกรรมของคนในโครงการระยะที่ 3 จากนั้นกรอบความคิดมาตรฐานจะถูกนำไปทดสอบในการวิจัยระยะที่ 4 ด้วยการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมการทำกิจกรรมจากกรณีศึกษา พร้อมทั้งสรุปผลการพัฒนากรอบความคิดมาตรฐาน


ผลลัพธ์ที่คาดหวังคือการพัฒนากรอบความคิดมาตรฐานสำหรับระบบวิเคราะห์พฤติกรรมการทำกิจกรรมของคน สามารถนำไปสู่การเจริญเติบโตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่มีความต้องการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำกิจกรรม สามารถเข้าถึงการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการทำกิจกรรมได้ด้วยงบประมาณที่มี สามารถบริหารจัดการ รวมทั้งวางแผนกิจกรรมโดยใช้สถานที่จริงได้อย่างคุ้มค่า และสามารถประเมินความสำเร็จในการจัดกิจกรรมได้ด้วยตัวชี้วัดเชิงปริมาณ


Keywords

No matching items found.


Strategic Research Themes


Publications

No matching items found.


Last updated on 2024-11-12 at 15:05