การวิเคราะห์หายีนที่ตอบสนองต่อโรคแผลขีดสีน้ำตาลในมันสำปะหลังพันธุ์อ่อนแอและพันธุ์ต้านทานเพื่อใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับการพัฒนาสายพันธุ์ทนโรค
หัวหน้าโครงการ
ผู้ร่วมโครงการ
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
สมาชิกทีมคนอื่น ๆ
รายละเอียดโครงการ
วันที่เริ่มโครงการ: 01/10/2022
วันที่สิ้นสุดโครงการ: 30/09/2023
คำอธิบายโดยย่อ
จากการขยายตัวของเศรษฐกิจทางเกษตรที่ลดลงเนื่องจากปัญหาสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ผนวกกับการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ในแต่ละปีไม่แน่นอน คาดการณ์ได้ยากและไม่สามารถควบคุมคุณภาพและราคาของผลผลิตได้ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตยังเท่าเดิมและมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง ก่อให้เกิดแนวทางในการปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตร โดยมีเป้าหมายระยะแรกในการบูรณาการวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่การทำ "เกษตรแม่นยำ (Precision agriculture)" โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อผลักดันเกษตรกรให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและกำหนดราคาได้ เสริมสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น สำหรับมันสำปะหลังซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศจากมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 4 ของสินค้าเกษตร และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ลูกจ้าง และผู้ประกอบการตามวงจรห่วงโซ่การผลิตเป็นจำนวนมาก ในตลาดการค้ามันสำปะหลังโลกประเทศไทยเป็นผู้ผลิตเป็นอันดับสอง และเป็นผู้ส่งออกผลผลิตมันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างไรก็ดี เกษตรกรมันสำปะหลังส่วนใหญ่ในประเทศยังคงใช้วิธีการปลูกแบบดั้งเดิมที่ผลผลิตส่วนใหญ่ยังคงขึ้นอยู่การสภาพพื้นที่เพาะปลูกตามธรรมชาติ และไม่ได้มีมาตรการควบคุมหรือกระบวนการรับมือกับการระบาดของโรคที่ดีนัก จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพรวมถึงปริมาณผลผลิตเมื่อเกิดการระบาดของโรคได้ เช่นพบว่าผลผลิตมันสำปะหลังในแอฟริกาลดลงมากว่า 70 เปอร์เซ็นต์เมื่อเกิดการระบาดของโรคแผลขีดสีน้ำตาลในมันสำปะหลัง (Alicai et al., 2016) หรือการระบาดของโรคใบด่างที่ส่งผลทำให้ผลผลิตเสียหาย 80-100 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย (วารีรัตน์, 2562) ดังนั้นการพัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังให้มีความทนทานต่อโรค หรือการมีเครื่องมือตลอดจนถึงวิธีการที่สามารถจะตรวจหาเชื้อ หรือการเป็นโรคของมันสำปะหลังได้อย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดเช่นช่วงเวลาที่ผ่านมา การพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างศักยภาพในการรับมือต่อการระบาดของโรคพืชนี้ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับเกษตรกรมันสำปะหลังไทยในการสร้างเสถียรภาพของการผลิตมันสำปหลังทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนั้นข้อเสนอโครงการนี้ จึงมีเป้าประสงค์ในการค้นหายีนที่ตอบสนองต่อโรคแผลขีดสีน้ำตาลเพื่อใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับการพัฒนาสายพันธุ์ทนโรคในอนาคต โดยศึกษาผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลการแสดงออกของยีนเชิงเปรียบเทียบระหว่างมันสำปะหลังสายพันธุ์ที่อ่อนแอและสายพันธุ์ต้านทาน และศึกษากลไกที่ช่วยให้สายพันธุ์ต้านทานสามารถทนต่อโรคได้ดีกว่า องค์ความรู้ที่ได้เมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะช่วยเพิ่มความเข้าใจในกลไกการตอบสนองของมันสำปะหลังที่มีความทนทานต่อโรคแผลขีดสีน้ำตาลที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ ซึ่งจะช่วยสร้างแนวทางในการหาวิธีตรวจการติดเชื้อตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ลดการติดเชื้อ และพัฒนาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับลักษณะทนต่อโรคแผลขีดสีน้ำตาลในการปรับปรุงสายพันธุ์มันสำปะหลัง คณะผู้วิจัยคาดว่าองค์ความรู้จากโครงการนี้ จะเป็นรากฐานของเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบสูงต่อภาคการผลิตมันสำปะหลังของไทย
คำสำคัญ
- biomarker
- Cassava
- cassava brown steak disease (CBSV)
- resistance variety
- tolerant variety