การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสนใจในรูปแบบการเรียนรู้ของกำลังคนวัยทำงานเพื่อเสริมและพัฒนาทักษะที่มีอยู่และเพื่อสร้างทักษะใหม่
หัวหน้าโครงการ
ผู้ร่วมโครงการ
สมาชิกทีมคนอื่น ๆ
รายละเอียดโครงการ
วันที่เริ่มโครงการ: 01/10/2022
วันที่สิ้นสุดโครงการ: 30/09/2023
คำอธิบายโดยย่อ
การพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความสามารถเพียงพอที่จะเข้าสู่งานและทำงานได้ตรงตามที่องค์กรต้องการเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่องค์กรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับกระบวนการทำงานเดิม ท่ามกลางบริบทที่การคาดการณ์ความต้องการทักษะงานจะทำได้ยากขึ้น และทักษะจะยิ่งล้าสมัยได้เร็วขึ้น ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้มาตรการขยายอายุเกษียณเพื่อเพิ่มจำนวนวัยทำงานเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างทางประชากรที่เข้าสู่สภาวะสังคมสูงวัย ในณะที่ร้อยละ 70 ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่ามีการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า แต่ตลาดแรงงานส่วนใหญ่มีความต้องการแรงงานที่สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี การพัฒนากำลังแรงงาน (workforce) จึงเป็นนโยบายสำคัญเพื่อพัฒนาสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นแก่วัยทำงานให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทั้งเพื่อเสริมและพัฒนาทักษะที่มีอยู่และเพื่อสร้างทักษะใหม่ (upskill and reskill)
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาว่าปัจจัยใดที่ส่งผลต่อความสนใจในรูปแบบการเรียนรู้เพื่อเสริมและพัฒนาทักษะที่มีอยู่และเพื่อสร้างทักษะใหม่ของคนวัยทำงาน เพื่อที่จะเข้าใจถึงความสนใจและความต้องการของกำลังแรงงาน ทั้งในกลุ่มกำลังคนวัยทำงานที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีนัยยะสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และคนวัยทำงานที่มีระดับการศึกษาสูงสุดไม่เกินการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ยังคงมีศักยภาพในการเรียนรู้และสมควรได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเอง และนำเสนอผลวิจัยเพื่อต่อยอดไปสู่การออกแบบนโยบาย และการวางแผนเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้ใหญ่วัยทำงานเพื่อลดช่องว่างของทักษะที่ขาดแคลน และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมสำหรับวัยแรงงานที่มีบริบททางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกัน จากข้อมูลเบื้องต้นและภูมิหลังดังกล่าว จึงกำหนดวัตถุประสงค์ของงานวิจัย ดังนี้
- เพื่อศึกษาปัจจัยด้านคุณลักษณะส่วนบุคคล และการรับรู้ความสามารถในการปรับตัวด้านอาชีพ ที่ส่งผลต่อความสนใจในรูปแบบการเรียนรู้ของคนวัยทำงานเพื่อเสริมและพัฒนาทักษะที่มีอยู่และเพื่อสร้างทักษะใหม่
- เพื่อเสนอแนะแนวทางแก่สถาบันอุดมศึกษาในการจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของคนวัยทำงานและภาคอุตสาหกรรม
- เพื่อเสนอแนะแนวทางแก่ภาคอุตสาหกรรมในการวางแผนและบริหารจัดการการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อเสริมและพัฒนาทักษะที่มีอยู่และเพื่อสร้างทักษะใหม่
- เพื่อเสนอแนะแนวทางแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนวัยทำงานที่มีระดับการศึกษาสูงสุดไม่เกินการศึกษาขั้นพื้นฐาน
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยแบบผสมวิธี โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบแผนแบบขั้นตอนเชิงสำรวจ (Exploratory Sequential Design) เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก กลุ่มตัวอย่าง คือ กำลังแรงงานที่เป็นคนวัยทำงาน (working adults) ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมป้าหมาย และคนวัยทำงานที่มีระดับการศึกษาสูงสุดไม่เกินมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา การสรุปผลการวิจัยจะเชื่อมโยงผลการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อแปลผลวิจัยโดยใช้ข้อมูลที่ได้จากสองวิธีการร่วมกัน วิเคราะห์และอภิปรายผลโดยใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Adult learning) และ แนวคิดความสามารถในการปรับตัวด้านอาชีพ (Career adaptability)
ผลผลิตและผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับจะคอรบคลุมทั้งผลงานวิชาการ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สามารถส่งต่อไปยังมิติเศรษฐกิจจากการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร/ ภาคอุตสาหกรรมด้วยกำลังแรงงานที่มีความสามารถในการปรับตัวด้านอาชีพ และพัฒนาสมรรถนะให้ตรงกับงาน ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนมิติสังคมที่กำลังแรงงานจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการที่สถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมในการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาสมรรถนะ เช่น Micro-credentials และจัดรูปแบบการเรียนรู้เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้แก่กำลังแรงงานไทยได้สอดคล้องกับบริบททางสังคม ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่คำนึงถึงความต้องการเรียนรู้ที่หลากหลาย
คำสำคัญ
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์
ผลงานตีพิมพ์
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง