การพัฒนาระบบจัดการขยะอินทรีย์ในเขตสัมพันธวงศ์เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้ง กรณีศึกษาเปลือกเมล็ดแปะก๊วย
หัวหน้าโครงการ
ผู้ร่วมโครงการ
สมาชิกทีมคนอื่น ๆ
รายละเอียดโครงการ
วันที่เริ่มโครงการ: 13/07/2023
วันที่สิ้นสุดโครงการ: 12/03/2024
คำอธิบายโดยย่อ
สำนักเขตสัมพันธวงศ์ เป็นหนึ่งในห้าสิบเขตของกรุงเทพมหานคร เป็นเขตที่มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุด สภาพพื้นที่ประกอบไปด้วยแหล่งการค้าหนาแน่น และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เยาวราชซึ่งเต็มไปด้วยร้านอาหารและแผงขายอาหารในยามค่ำคืนริมถนนเยาวราช รวมถึงมีตลาดสดและเวิร์กช็อปแบบดั้งเดิมตั้งอยู่ตลอดริมฝั่งถนน ก่อให้เกิดปัญหาขยะอินทรีย์ที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและทัศนียภาพไม่น่ามอง การจัดการขยะเหล่านี้อย่างถูกวิธี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการมุ่งเน้น
แปะก๊วยเป็นแหล่งสำคัญของยาสมุนไพรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีองค์ประกอบที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ พืชชนิดนี้ได้มีประโยชน์ทางการรักษามากมาย เช่น การรักษาโรคหอบหืด วัณโรค ปัญหาผิวหนัง อาการไม่สบายท้อง หลอดลมอักเสบ ภาวะหลอดเลือด การเกิดลิ่มเลือด โรคหัวใจขาดเลือด และโรคเบาหวาน เป็นต้น (Mitra et al. 2022) ทำให้แปะก๊วยได้รับความนิยมเป็นหนึ่งในวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารเสริม เนื่องจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดขยะประเภทเปลือกเพิ่มขึ้นตามมาด้วย เฉลี่ยวันละ 800-1,000 กิโลกรัม หรือกว่า 30 ตัน/เดือน เดิมมีการจัดการขยะประเภทนี้ด้วยกระบวนการหมักปุ๋ย ที่เขตหนองแขม ซึ่งใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากตัววัสดุมีลิกนินเป็นองค์ประกอบหลัก อาจส่งผลให้เกิดปริมาณขยะล้นโรงหมักปุ๋ยได้ หากสามารถพัฒนาศักยภาพวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในแง่อื่น เช่น เป็นตัวดูดซับโลหะหนักในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย (Wang et al. 2017) เป็นต้น อาจเพิ่มมูลค่าและความต้องการของตลาด ให้เปลือกแปะก๊วยได้ อนึ่ง ปัญหาน้ำเสีย ยังคงเป็นปัญหาที่พบเกือบทุกพื้นที่ ในเขตกรุงเทพฯ และครอบคลุมทุกเขตภาคกลางตอนล่าง ดังนั้น การพัฒนาระบบจัดการขยะอินทรีย์ในเขตสัมพันธวงศ์เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้ง กรณีศึกษา เปลือกแปะก๊วย สามารถแก้ปัญหาปริมาณขยะล้นศูนย์กำจัดขยะ พร้อมกับปัญหาน้ำเสียได้ ตลอดจนเป็นการ สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน และสนับสนุนนโยบายอาหารในเมืองและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนอีกด้วย ทั้งนี้ทางทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับความไว้ใจให้ทำงานร่วมกับสำนักงานกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธ์วงศ์และภาคเอกชน ในการประเมินความเป็นไปได้ในการพัฒนาศักยภาพของเปลือกแปะก๊วย เพื่อสนับสนุนการนำไปประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดูดซับโลหะหนักในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
กรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายกติกานโยบายอาหารในเมืองมิลาน (Milan Urban Food Policy Pact: MUFPP) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 มีวัตถุประสงค์ ให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์และทักษะด้านการพัฒนานโยบายอาหารเมือง โดยมีกรอบการทำงาน 6 ด้าน ซึ่ง 1 ในนั้น คือ ด้านขยะอาหาร (Food waste) เพื่อการบริหารจัดการระบบอาหารแบบครบวงจร และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบกับ ปริมาณขยะจากเปลือกแปะก๊วย เพิ่มขึ้นจำนวนมากในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นพื้นที่กระจายสินค้า และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ขณะที่พื้นที่การกำจัดขยะภายในศูนย์การจัดการขยะเขตหนองแขมมีปริมาณจำกัด จึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข
คำสำคัญ
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์
ผลงานตีพิมพ์
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง