การวิเคราะห์ฐานข้อมูลค่ามาตรฐานกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรการผลิต และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย


หัวหน้าโครงการ


ผู้ร่วมโครงการ

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


สมาชิกทีมคนอื่น ๆ


รายละเอียดโครงการ

วันที่เริ่มโครงการ01/08/2022

วันที่สิ้นสุดโครงการ31/01/2024


คำอธิบายโดยย่อ

มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความพร้อมมากที่สุดที่จะเป็นโครงการนำร่องการสร้าง S-curve ใหม่ด้วยเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อผลักดันการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ที่มีเป้าหมายโดยรวมเพิ่มจาก 9.5 แสนล้านบาทต่อปี เป็น 1.5-1.7 ล้านล้านบาทต่อปี จาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารคาร์โบไฮเตรดที่ใช้สร้างหรือเปลี่ยนให้เป็นโปรตีน ไขมัน เส้นใยอาหาร และ food additive/ ingredient ได้ นอกจากนี้สามารถผลักให้เกิด Biorefinery ที่ผลิตสารตั้งต้น เพื่อนำมาใช้ในกลุ่มพลังงาน สารเคมี อาหาร และยาต่อไป นับได้ว่าอุตสาหกรรมมันสำปะหลังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง (Cassava Starch) ขั้นต้น คือ แป้งมันสำปะหลังดิบ (Native Starch) สามารถใช้บริโภคโดยตรงในครัวเรือน (เพื่อประกอบ/ปรุงอาหาร) และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปร (Modified Starch) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า อีกทั้งใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้หลากหลาย อาทิ ผงชูรส สารให้ความหวาน ซอสปรุงรส เครื่องสำอาง และยา เป็นต้น ในปี 2563 มีโรงงานแป้งมันสำปะหลังที่ผลิต native starch ในไทยจำนวนทั้งสิ้น 104 โรงงาน และโรงงานแป้งมันสำปะหลังดัดแปร 21 โรงงาน

สวทช. และ มจธ. มีความประสงค์ร่วมมือกับสมาคมแป้งมันสำปะหลังเพื่อยกระดับศักยภาพของโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิภาพการผลิต การใช้ทรัพยากรและพลังงานของโรงงานในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย เพื่อพัฒนาและสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง มีการปลดปล่อยปริมาณก๊าชเรือนกระจกที่ออกมาจากกระบวนการผลิตแป้งซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัจจุบันประเทศผู้นำเข้าได้นำมาตรการกีดกันที่มิใช่การค้าเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและการร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีกลยุทธ์ในการปรับตัวอาจทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ ดังนั้น การจัดทำฐานข้อมูลค่ามาตรฐานกระบวนการผลิต เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง จึงเป็นการเตรียมความพร้อมและสามารถใช้ข้อมูลต่อรองทางการค้ากับประเทศพัฒนาแล้วที่นำเข้าแป้งมันสำปะหลังในเวทีการค้าโลกได้อย่างยั่งยืน


คำสำคัญ

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์


ผลงานตีพิมพ์

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


อัพเดทล่าสุด 2025-17-03 ถึง 16:53