System Development and Quality Enhancement of Thai Journal Indexed in Scopus
Principal Investigator
Co-Investigators
No matching items found.
Other Team Members
Project details
Start date: 18/09/2020
End date: 17/09/2022
Abstract
ในปี พ.ศ. 2560-2563 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการแก่ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index; TCI) ภายใต้โครงการ “TCI-TRF-Scopus Collaboration Project” เพื่อผลักดันวารสารไทยเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus และผลการดำเนินงานของโครงการประสบผลสำเร็จได้ด้วยดี โดยสามารถผลักดันวารสารไทยเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus ผ่านโครงการดังกล่าวนี้ได้จำนวนวารสาร 40 รายการ ได้รับการตอบรับ (acceptance) เข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus คิดเป็นเท่ากับ 100% (โดยไม่มีการถูกปฏิเสธ) และยังสามารถลดระยะเวลาเฉลี่ยในการพิจารณาเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus ของวารสารไทยจากเดิม 16 เดือน เหลือเพียง 24 วันเท่านั้น และเมื่อรวมกับวารสารไทยที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus อยู่แล้วอีกจำนวน 26 รายการ จึงทำให้ ณ ปัจจุบันมีวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus รวมทั้งสิ้น 66 รายการ
การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการด้วยการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ถือเป็นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ด้านวิชาการให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ใช้เป็นตัวชี้วัดในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลกด้วย ข้อมูลจากฐานข้อมูล Scopus แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของบทความวิจัยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับเดียวกัน โดยในปี 2019 พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของบทความวิจัยในฐานข้อมูล Scopus เฉลี่ยเพียงปีละ 4% ในปี 2017, 13% ในปี 2018 และ 12% ในปี 2019 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียมีบทความวิจัยเพิ่มขึ้น 18% ในปี 2019 และประเทศอินโดนีเซียมีบทความวิจัยเพิ่มขึ้น 54% ในปี 2019 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการเชิงระบบเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่มปริมาณและยกระดับคุณภาพของบทความวิจัยที่มาจากนักวิจัยไทย
ข้อเสนอโครงการ “การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus” จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณบทความวิจัยและพัฒนาคุณภาพงานวิจัย ผ่านกระบวนการพัฒนาระบบและปรับปรุงคุณภาพบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารไทยที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus ที่จะส่งผลต่อการจัดอันดับที่ดีขึ้นของมหาวิทยาลัยไทยในเวทีโลก ตลอดจนการเพิ่มและพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยเน้นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการวารสารให้มีประสิทธิภาพในระดับสากล เพื่อแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการวารสารต่างๆ เช่น ทรัพยากรและกำลังคนที่มีอยู่จำกัด เนื่องจากแต่เดิมเป็นวารสารในระดับชาติ จึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนบทความตีพิมพ์เผยแพร่ได้มากกว่าเดิม ส่งผลให้หลายบทความอาจได้รับการปฏิเสธการตีพิมพ์โดยไม่มีโอกาสได้พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพ อีกทั้ง กองบรรณาธิการไม่สามารถหาผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศได้เพราะไม่มีเครื่องมือ (reviewer pool list) และไม่สามารถเข้าถึง reviewers เหล่านี้ได้ ดังนั้น หากมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นสากล และสามารถเข้าถึงผู้ทรงคุณวุฒิในระดับนานาชาติเพื่อพิจารณาประเมินบทความ กองบรรณาธิการจะสามารถเพิ่มจำนวนบทความวิจัยที่จะตีพิมพ์ได้อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะบทความที่มาจากนักวิจัยไทย และทำให้ได้บทความที่มีคุณภาพสูงขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพวารสารของประเทศไทยในมุมมองของนักวิจัยในระดับนานาชาติได้อีกด้วย นอกจากนี้ กระบวนการในการพัฒนาระบบและปรับปรุงคุณภาพบทความวิจัยของวารสารไทยที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus ยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาผลงานตีพิมพ์ของนักวิจัยรุ่นใหม่ รวมทั้งเป็นการสร้าง Professional Editors’ Career Path ขึ้นในประเทศ ผลที่ได้ (output) คือ สามารถเพิ่มจำนวนบทความของประเทศไทยในฐานข้อมูลนานาชาติได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยคาดว่าภายหลังสิ้นสุดโครงการ จะทำให้ประเทศไทยมีจำนวนบทความจากนักวิจัยไทยในฐานข้อมูล Scopus เพิ่มขึ้นประมาณ 1,500 บทความต่อปี โดยหากสามารถเพิ่มจำนวนบทความได้ในกลไกของโครงการนี้ ประเทศไทยจะมีสัดส่วนบทความวิจัยของนักวิจัยไทยในฐานข้อมูล Scopus จากวารสารไทยในโครงการนี้ถึง 24% ของจำนวนบทความทั้งหมดในปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยไทยในเวทีโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย
Keywords
No matching items found.
Strategic Research Themes
Publications
No matching items found.