ผลกระทบจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งต่อประชากรและพันธุกรรมของนากสองชนิด


หัวหน้าโครงการ


ผู้ร่วมโครงการ


สมาชิกทีมคนอื่น ๆ

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


รายละเอียดโครงการ

วันที่เริ่มโครงการ01/10/2020

วันที่สิ้นสุดโครงการ30/09/2021


คำอธิบายโดยย่อ

สัตว์ผู้ล่าเป็นกลุ่มสัตว์ที่อยู่ส่วนบนของสายใยอาหาร ช่วยควบคุมประชากรของสัตว์กลุ่มอื่นๆที่เป็นเหยื่อ รักษาสมดุลของระบบนิเวศ การสูญพันธุ์ของสัตว์กลุ่มนี้สามารถส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาการศึกษาสัตว์ผู้ล่ามักจะเน้นไปที่สัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ในพื้นที่อนุรักษ์ ขณะที่การศึกษาในกลุ่มสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กมีค่อนข้างจำกัด แม้จะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นอกจากนี้การศึกษาส่วนใหญ่ยังเป็นการสำรวจในพื้นที่ป่าบก แทบจะไม่มีการศึกษาในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งเลย ทั้งที่พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเข้มข้นจากกิจกรรมหลายประเภทของมนุษย์ อีกทั้งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ทำให้การจัดการพื้นที่เหล่านี้มีความซับซ้อนกว่าในพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นป่าบก

        ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งภาคที่มีพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งขนาดใหญ่กระจายอยู่หลายแห่ง สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีทั้งสัตว์กลุ่มนากและเสือปลา ซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับโลก โดยยังสามารถพบนากได้ในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง (coastal wetland) และพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน (inland wetland) ในหลายจังหวัด ในขณะเดียกันพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งของภาคใต้ของไทยมีการใช้ประโยชน์จากมนุษย์ในระดับสูง ทั้งในรูปแบบถาวรและชั่วคราว เช่น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าธรรมชาติเป็นที่ตั้งชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น ซึ่งกิจกกรมเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการลดลงของพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ รวมไปถึงการแบ่งแยกผืนป่าออกจากกัน (fragmentation) และในหลายๆครั้ง การใช้ประโยชน์พื้นที่ที่ทับซ้อนระหว่างคนและสัตว์นำไปสู่ความขัดแย้งที่มักลงท้ายด้วยการสูญเสียชีวิตของสัตว์เหล่านี้ ดังนั้นในการวางแผนการจัดการพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐานหลายด้านประกอบกัน ข้อมูลที่สำคัญในส่วนของสัตว์ป่าประกอบด้วยสถานภาพการกระจาย ความหนาแน่นของประชากร โครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างประชากร อัตราการอยู่รอด และผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ต่อประชากรของสัตว์ นอกจากนี้ระดับภัยคุกคามต่อประชากรสัตว์ในแต่ละพื้นที่ก็เป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่มีความสำคัญ ที่จะเพิ่มความแม่นยำในการประเมินโอกาสในการอยู่รอดของสัตว์ เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลร่วมกัน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีหน้าที่หลักในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ประชากรสัตว์ป่าในระยะยาว และการแบ่งสรรจัดส่วนการใช้ประโยชน์พื้นที่โดยมนุษย์ หรือการจัดการลดผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งอาจต้องการการจัดการที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

        แนวทางของชุดโครงการเน้นไปที่การศึกษาเก็บข้อมูลพื้นฐานทั้งทางด้านสัตว์ป่าและมนุษย์ เพื่อจัดสรรรูปแบบการจัดการที่เหมาะสมให้แต่ละพื้นที่  โดยทางด้านสัตว์ป่าจะเน้นศึกษาระดับประชากรในพื้นที่ที่มีความสำคัญสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ  และทำการสำรวจเพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์กลุ่มเป้าหมาย ทางด้านสังคมจะเน้นศึกษาประเภทและระดับความรุนแรงของปัจจัยคุกคามต่อสัตว์ในกลุ่มนี้ในแต่ละพื้นที่

        ผลที่ได้จากแต่ละโครงการย่อยในชุดโครงการนี้ จะช่วยให้สามารถระบุพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์นากและเสือปลาในพื้นที่ชุ่มน้ำภาคใต้ และประเมินระดับของปัจจัยคุกคามในแต่ละพื้นที่ อันจะนำไปสู่การจัดสรรรูปแบบการจัดการที่เหมาะสมและความเร่งด่วนของการจัดการให้กับแต่ละพื้นที่ได้ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้หลังจบโครงการในปี พ.ศ. 2566 การจัดการที่เหมาะสมจะช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้พื้นที่ร่วมกัน นำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน


คำสำคัญ

  • otter
  • population size
  • Spatially Explicit Capture-Recapture


กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์


ผลงานตีพิมพ์

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


อัพเดทล่าสุด 2025-14-01 ถึง 09:49