Research on Education and Learning Supporting Facilities for Developing Future Learning Spaces and Education Programs in Museum : Case Study of National Museums in Thailand
Principal Investigator
Co-Investigators
Other Team Members
No matching items found.
Project details
Start date: 01/10/2021
End date: 30/09/2022
Abstract
งานวิจัยเรื่อง “การศึกษาพื้นที่อำนวยความสะดวกในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยน แปลงและความต้องการของสังคมไทย” โดย รศ.ดร.ณัฏฐิณี กาญจนาภรณ์และ อ.ชนิดา ล้ำทวีไพศาล ระหว่างปี พ.ศ. 2560 -2562 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่เน้นบทบาทของพื้นที่ทางสังคม โดยเน้นกรณีศึกษาที่การพัฒนาพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในพิพิธภัณฑ์ ข้อมูลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริการวิชาการและสนับสนุนการเรียนรู้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในพิพิธภัณฑ์ การพัฒนาพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในสังคมในด้านการศึกษาและกิจกรรมที่สร้างการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนในชุมชนเป็นประเด็นที่รัฐบาลในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและประเทศในกลุ่มยุโรปมุ่งเน้นพัฒนาให้ดีขึ้น จึงเกิดการพัฒนาพื้นที่สนับสนุนการศึกษาอย่างชัดเจน มีการเพิ่มเติมห้องเรียน ห้องอเนกประสงค์ และห้องบรรยายขนาดใหญ่ขึ้นในหลายพิพิธภัณฑ์ กิจกรรมที่สนับสนุนการศึกษาเป็นกลุ่มของกิจกรรมที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์สามารถของบประมาณสนับสนุนจากทางรัฐบาลได้ นอกจากนั้นมูลนิธิต่าง ๆ ล้วนมีนโยบายในการสนับสนุนงบประมาณให้กับพิพิธภัณฑ์ที่สนับสนุนการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในบริบทของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของประเทศไทย พิพิธภัณฑ์ยังคงเป็นที่ที่เก็บรักษาสมบัติมีค่าของชาติ และมีการจัดแสดงวัตถุในรูปแบบเดิมมาเป็นเวลาหลายสิบปีหรือบางแห่งมีการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย จากประสบการณ์เบื้องต้นในการเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพบว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ได้ปรับตัวให้ตอบสนองต่อการเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ และขาดความสอดคล้องกับบริบทการศึกษาของสถาบันการศึกษาที่เป็นปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้เข้าชมโดยเฉพาะเยาวชนมีประสบการณ์การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่น่าเบื่อหน่าย ขาดความประทับใจ ทำให้ขาดแรงจูงใจในการกลับมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในอนาคต ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์สถิติของจำนวนและประเภทผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์รวมถึงประสบการณ์ของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์จะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์นี้ได้ชัดเจนขึ้น หากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทยยังดำเนินการไปในรูปแบบนี้นับเป็นการเสียโอกาสทางการเรียนรู้จากวัตถุจัดแสดงที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมไทย
โครงการวิจัยนี้ มีสมมติฐานเบื้องต้นดังนี้ สมมติฐานที่ 1 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทยต้องพัฒนาการต่อยอดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาในระบบ (Formal Education) หรือนอกระบบ (Informal Education) โดยพิพิธภัณฑ์สร้างความร่วมมือ (Partnership) กับสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในเมืองเดียวกันหรือพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา สถาบันการศึกษาพิเศษ ศูนย์ฝึกวิชาชีพ หรือโรงเรียนในกลุ่มการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย บุคลากรของพิพิธภัณฑ์ทำงานร่วมกับครูหรือบุคลากรจากสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการและกิจกรรมที่สนับสนุนการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสถาบันการศึกษาแห่งนั้น กิจกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ ใช้วัตถุจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ ใช้พื้นที่ในนิทรรศการ หรือใช้พื้นที่บริการวิชาการและสนับสนุนการเรียนรู้ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจกรรมและระดับการศึกษาของผู้ใช้บริการของพิพิธภัณฑ์ คนกลุ่มนี้เข้าชมพิพิธภัณฑ์แบบกลุ่มนักเรียนหรือกลุ่มชั้นเรียนที่มีครูดูแล และมีระยะเวลาการเข้าชมที่มีกำหนดชัดเจน และ สมมติฐานที่ 2 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทยต้องสนับสนุนการเรียนรู้ของกลุ่มคนที่มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือสูงกว่า บุคคลทั่วไปที่มีวัยวุฒิ รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งคนในกลุ่มนี้ต้องการโอกาสในการเรียนรู้ที่ต่อยอดจากสิ่งที่ตนเองสนใจ ต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ และต้องการพบปะกับกลุ่มคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน คนในกลุ่มนี้เข้ามาชมนิทรรศการแบบคนเดียว มากับมิตรสหาย หรือมากับครอบครัว
โครงการวิจัยชิ้นนี้ต้องการศึกษาและวิเคราะห์เกี่ยวกับหน้าที่และบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในการสนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อสร้างแนวทางในการเพิ่มศักยภาพของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ในการสนับสนุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งต่อยอดให้เกิดความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและสถาบันการศึกษาในการวางแผนและพัฒนาพื้นที่สนับสนุนการศึกษาทั้งในด้านพื้นที่และกิจกรรม ส่งผลให้วัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมไทยได้มีการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของชีวิตประจำวันของผู้เข้าชมนิทรรศการมากขึ้น
Keywords
- พื้นที่สนับสนุนการศึกษาในพิพิธภัณฑ์, พื้นที่การเรียนรู้, การเรียนรู้ตลอดชีวิต, การเรียนรู้ตามอัธยาศัย