การพัฒนาการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยในชุมชนโดยใช้กลไกอาสาสมัครการศึกษาหมู่บ้าน กรณีศึกษา อำเภอจอมบึง-สวนผึ้ง-บ้านคา จังหวัดราชบุรี
หัวหน้าโครงการ
ผู้ร่วมโครงการ
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
สมาชิกทีมคนอื่น ๆ
รายละเอียดโครงการ
วันที่เริ่มโครงการ: 01/05/2021
วันที่สิ้นสุดโครงการ: 31/10/2022
คำอธิบายโดยย่อ
โครงการจะออกแบบระบบและกลไกการพัฒนา ให้อศม.ต้องมีทักษะการเป็นกระบวนกร(Facilitator) สามารถจัดกระบวนการ/กิจกรรมการเรียนรู้ให้กับเด็กและชุมชน เป็นโค้ชคอยชี้แนะและสะท้อนกลับ (Feedback) ปัญหาที่พบในพื้นที่ สามารถวิเคราะห์ สรุปประเด็น เชื่อมโยงสู่ความรู้ใหม่ๆ นอกจากนั้น จะช่วยทำหน้าที่สอดส่อง ให้คำแนะนำ ในกรณีเด็กและเยาวชนประสบปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนและการดำรงชีวิต เพื่อหาทางป้องกันแต่เนิ่นๆ และใช้กิจกรรม STEAM ทักษะอาชีพ STEAM Education เป็นการประยุกต์ใช้การเรียนรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ (Sciences) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathamatics) ร่วมกับศิลปะ (Arts) มาช่วยในการเชื่อมโยงและบูรณาการสาระวิชาการต่างๆ อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาสาระวิชาการมากกว่าการฟัง และสามารถพัฒนาทักษะทางสังคม (ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21) ได้ดีอีกด้วย เช่น ทักษะการคิดแก้ปัญหา ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ-ผู้ตาม เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กอาจเลือกทักษะอาชีพที่ตนเองสนใจ มาสร้างรายได้ระหว่างเรียน หรือถ้าต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เนื่องจากปัญหาความยากจน เด็กก็สามารถนำทักษะอาชีพมาสร้างเป็นอาชีพในอนาคต ตัวอย่างทักษะอาชีพเช่น การเพาะต้นอ่อนทานตะวัน/ต้นอ่อนผักบุ้ง ทำขนมจากวัตถุดิบในท้องถิ่น การนำผลไม้/สมุนไพรในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อบแห้ง การทำปุ๋ยจากมูลไส้เดือน การทำสบู่สมุนไพร การออกแบบและพัฒนาหัตถกรรมจากภูมิปัญญากะเหรี่ยง เป็นต้น ซึ่งนอกจากได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงแล้ว นักเรียนยังได้ความสนุกในการฝึกทักษะอาชีพ ฝึกทักษะการค้าขาย โดยสินค้าที่ผลิตได้ ยังสามารถวางจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นได้อีกด้วย
นอกจากนั้น โครงการจะสร้างกลไกเชื่อมโยงกับอาสาสมัครที่เป็นผู้ชำนาญการและมีประสบการณ์ในด้านต่างๆนอกเหนือจากการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเชื่อมโยงกับอาชีพและการพัฒนาทักษะอาชีพในอนาคต (Future Workforce Skill) เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนและชุมชนได้พัฒนาทักษะและเข้าถึงโอกาสอาชีพในด้านต่างๆ ทั้งที่เป็นอาชีพในห่วงโซ่อุปทานเดิม เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว งานรับจ้างในอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสทางเลือกอาชีพแห่งอนาคต เช่น ดิจิตัล การออกแบบและดีไซน์ ด้านฐานทรัพยากรชีวภาพ เป็นต้น
กลไก “อาสาสมัครการศึกษาหมู่บ้าน (อศม.)” มีองค์ประกอบดังนี้ คือ
(1) เครือข่ายการจัดการเรียนรู้ หมายถึง การรวมสรรพกำลังของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ สถานศึกษา หน่วยราชการ ท้องถิ่น ชุมชน สังคม วิสาหกิจ และสถานประกอบการ สร้างระบบนิเวศน์การศึกษาใหม่ ร่วมกันกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มีเป้าหมายการพัฒนาการเรียนรู้ตามช่วงวัย สร้างทักษะอาชีพระหว่างเรียนในแต่ละช่วงวัย ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนี้สามารถรองรับบุคคลภายนอกระบบการศึกษา อาทิ คนในชุมชน เพื่อการพัฒนาทักษะอาชีพของตนได้ด้วย
(2) ผู้จัดการพื้นที่การเรียนรู้ หมายถึง อาจารย์มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ที่รวบรวม/ระดมสรรพกำลังสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ เพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแล ติดตาม หนุนเสริม ประสาน และควบคุมกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้เป็นไปตามผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนที่กำหนด รวมถึงการสรรหาอาสาสมัครการศึกษา (อศม.) และอาสาสมัครการศึกษาผู้เชี่ยวชาญ (อศม.เชี่ยวชาญ) เข้ามาในระบบ
(3) อาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญ (อศม.เชี่ยวชาญ) หมายถึง บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพสูง จากมหาวิทยาลัย สถานศึกษา หน่วยงานราชการ สถานประกอบการ ชุมชน สังคมตลอดจนจากเครือข่ายการเรียนรู้เอง ทำหน้าที่ ให้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ทั้งแก่ทีมงาน อศม.และผู้เรียนในกระบวนการเพื่อสร้างความสามารถทางอาชีพตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดโดยเครือข่ายการจัดการเรียนรู้ผ่านการกำกับดูแลของผู้จัดการพื้นที่ฯ
(4) หัวหน้าอาสาสมัครการศึกษา (หัวหน้า อศม.) หมายถึง อาสาสมัครจากบุคคลทั่วไปที่มีคุณสมบัติตามที่เครือข่ายการเรียนรู้กำหนด ซึ่งจะทำหน้าที่รับภารกิจการจัดการเรียนรู้ตามผลลัพธ์การเรียนรู้จากผู้จัดการพื้นที่ โดยประสานติดตาม หนุนเสริม ทีมงานอาสาสมัครการศึกษา (อศม.) ในพื้นที่การศึกษาที่กำหนด และดำเนินการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ณ พื้นที่จัดการศึกษาบางประการรวมถึงรายงานผล ปัญหาอุปสรรค จากการปฏิบัติหน้าที่แก่ ผู้จัดการพื้นที่ และหัวหน้า อศม.จะได้รับการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการเรียนรู้ในพื้นที่ เพื่อในอนาคตหัวหน้า อศม. จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการพื้นที่ได้
(5) อาสาสมัครการศึกษา (อศม.) หมายถึงอาสาสมัครจากบุคคลทั่วไปที่มีคุณสมบัติตามที่เครือข่ายการเรียนรู้กำหนด ทำหน้าที่เป็นคณะทำงานในทีมอาสาสมัครการศึกษา เพื่อติดตาม หนุนเสริมการจัดการเรียนรู้ในพื้นที่ รวมถึงเก็บข้อมูลจากกระบวนการ และดำเนินการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์เบื้องต้นรายงานยังหัวหน้า อศม. ซึ่งจะรายงานข้อมูลยังผู้จัดการพื้นที่ฯ ต่อไป
(6) ห่วงโซ่คุณค่าการศึกษาในพื้นที่ (Education Value Chain) คือ ผู้เรียนเป้าหมายทุกช่วงวัยในระบบการศึกษา ซึ่งกำหนดตั้งแต่ ระดับประถมศึกษา จนถึงการมีงานทำ ทั้งนี้เครือข่ายจะออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีผลสัมฤทธิ์ทั้งด้านการเรียนรู้ และทักษะอาชีพที่เหมาะสมสอดคล้องกับช่วงวัยที่นำไปสู่การสร้างรายได้หรือการสร้างอาหารจากการมีทักษะอาชีพ รวมไปถึงระบบดูแลผู้สูงวัยในชุมชน
คำสำคัญ
- อาสาสมัครการศึกษา
กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์
ผลงานตีพิมพ์
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง