เยอเด๊เนอ : การบ่มเพาะและพัฒนานวัตกร ผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเครือข่ายบนฐานทุนศิลปวัฒนธรรมชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยง พื้นที่แถบเทือกเขาตะนาวศรี จังหวัดราชบุรี-เพชรบุรี (โครงการต่อเนื่อง)
หัวหน้าโครงการ
ผู้ร่วมโครงการ
สมาชิกทีมคนอื่น ๆ
รายละเอียดโครงการ
วันที่เริ่มโครงการ: 15/03/2022
วันที่สิ้นสุดโครงการ: 14/03/2023
คำอธิบายโดยย่อ
‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ได้รับการพัฒนานิยามจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการหลายต่อหลายท่าน นับตั้งแต่ได้รับการเอ่ยถึงและเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการในระดับรัฐบาลเมื่อปีพ.ศ. 2544 ในประเทศอังกฤษ[1] จากการประมวลคำนิยามต่าง ๆ เสาวรภย์ กุสุมา ณ อยุธยา พบว่ามีองค์ประกอบร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อยู่หลายประการ อาทิ การใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity) การใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ และหากต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักเศรษฐศาสตร์ภายใต้แนวคิดสร้างสรรค์ได้นั้น จำเป็นต้องมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหัวใจหลักสําคัญ[2]
‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรม’ และ ‘อุตสาหกรรมการสร้างสรรค์’ ถือเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิด ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ สำหรับแนวคิดหลักของ ‘อุตสาหกรรมการสร้างสรรค์’ จะเน้นในด้านปัจเจกบุคคลและผลงานจากการสร้างสรรค์ การประดิษฐ์ ทักษะ และความสามารถในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลใด ๆ ในขณะที่แนวคิดเกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรม’ นั้น จะเน้นในด้านอุตสาหกรรมที่มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตผลงานมาจากมรดกทางวัฒนธรรม องค์ความรู้ด้านประเพณีและองค์ประกอบด้านงานศิลป์ของการสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมวัฒนธรรมถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงมาก โดยแต่ละพื้นที่จะมีความสามารถและประสบการณ์ในการแข่งขันแบบเฉพาะอย่าง โดยขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ เมื่อมองการประยุกต์ใช้แนวคิดเหล่านี้ในระดับประเทศ จะพบว่า ปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศได้มีความพยายามที่จะรวมตัวและประสานความร่วมมือในระดับเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อสร้างความเข้มแข็ง เสริมสร้างศักยภาพ เพื่อสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ความร่วมมือดังกล่าวนี้เรียกว่า “กลุ่มความคิดสร้างสรรค์” (Creative Clusters) ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นการร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคความคิด สร้างสรรค์ของแต่ละประเทศในกลุ่มตลอดจนเพื่อเป็นกลไกสําคัญในการขจัดปัญหาความยากจน ขณะเดียวกันยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มดังกล่าวก็ถือเป็นเครื่องมือในการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมของแต่ละประเทศในกลุ่มความร่วมมือสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้โดยสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โครงการเยอเด๊เนอ : การบ่มเพาะและพัฒนานวัตกร ผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเครือข่ายบนฐานทุนศิลปวัฒนธรรมชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยง พื้นที่แถบเทือกเขาตะนาวศรี จังหวัดราชบุรี-เพชรบุรี เล็งเห็นถึงความสำคัญของภารกิจ 3 ประการ (1)การรวบรวมข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรม องค์ความรู้ด้านประเพณีและองค์ประกอบด้านงานศิลป์ของหัตถกรรมกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งทักษะและความสามารถในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของปัจเจกชน ในการสร้างและประดิษฐ์เพื่อเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ให้กับผู้ที่จะสืบทอดและสร้างความงอกเงยให้กับมรดกวัฒนธรรมเดิม (2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่รวมทั้งการจัดการองค์ความรู้ทั้งแบบในดั้งเดิม เช่น ภูมิปัญญาของชุมชนและแบบปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เป็นฐานขององค์ความรู้เหล่านั้น และ (3) การสร้างยุทธศาสตร์การรวมกลุ่ม จึงได้นำภารกิจทั้งสามประการนี้มาตั้งเป็นสมมุติฐานหลักของโครงการวิจัยนี้ ว่าหากสามารถสร้างกลไกในการผลักดัน 3 ภารกิจเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เกิดระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมในการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ได้
สำหรับการจัดการองค์ความรู้นั้น เอกวิทย์ ณ ถลาง กล่าวว่า การพัฒนาภูมิปัญญาเป็นกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์ มีลักษณะของการเรียนรู้อยู่ 8 ประการ ได้แก่ (1) การลองผิดลองถูก (2) การลงมือกระทำจริง (3) การถ่ายทอดความรู้แก่คนรุ่นหลังด้วยการสาธิตวิธีการ (4) การสื่อสารปากเปล่าและการสร้างองค์ความรู้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร (5) การเรียนรู้โดยพิธีกรรม การยึดศาสนาเป็นหลัก (6) การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ (7) การผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม และ (8) ครูพักลักจำ[3] ลักษณะเหล่านี้ แท้จริงคือวิธีการในการเรียนรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งหากในโครงการวิจัยเยอเด๊เนอฯ ประยุกต์ใช้กระบวนการเหล่านี้ในการถ่ายทอดองค์ความรู้สมัยใหม่รวมทั้งทักษะอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถทำความเข้าใจกับองค์ความรู้และทักษะใหม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้ หากอาศัยสื่อสำหรับการเรียนการสอนหรือการอำนวยการเรียนการสอน (Facilitate) ที่เหมาะสม จะช่วยทำให้การถ่ายทอดนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีด้านสารสนเทศในการจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ให้เป็นระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะมีส่วนช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลความรู้และทักษะของหัตถกรรม เป็นไปได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นกว่าการถ่ายทอดแบบตัวต่อตัวเช่นในอดีต
ส่วนแนวคิดสมัยใหม่ในการจัดการความรู้ ชี้ให้เห็นว่า การจัดการความรู้ คือ ชุดของกระบวนการสร้าง การควบคุม การจัดเก็บ การแบ่งปันและการใช้ความรู้ มีลักษณะเป็นวงจร ที่มีคน เทคโนโลยี และกระบวนการจัดการความรู้เป็นองค์ประกอบสําคัญ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านนิยามว่า การจัดการความรู้ คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร (หรือชุมชนในกรณีของโครงการนี้) ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบเพื่อให้ทุกคน ในองค์กร (หรือชุมชน) สามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด ความรู้ถูกจัดแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
(1) ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์หรือสัญชาตญาณของแต่ละบุคคลในการทําความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เป็นความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคําพูด หรือลายลักษณ์อักษรได้โดยง่าย เช่น ทักษะในการทํางาน งานฝีมือ หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ บางครั้งจึงเรียกว่าเป็นความรู้แบบนามธรรม
(2) ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้โดยผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎี คู่มือต่าง ๆ และบางครั้งเรียกว่าเป็นความรู้แบบรูปธรรม
โครงการเยอเด๊เนอฯ เชื่อว่า เราไม่อาจละเลยความรู้ประเภทใดประเภทหนึ่ง การเปลี่ยนความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) ให้กลายเป็นความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เพื่อการเข้าถึงความรู้นั้นได้ซ้ำ ๆ และเพื่อปกป้ององค์ความรู้จากการสูญหาย อาจจะไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งหมดกับองค์ความรู้ประเภทหัตถกรรมที่คนยังคงเป็นสื่อที่ดีที่สุดในการถ่ายทอด ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ‘ผู้สอน’ กับ ‘ผู้เรียน’ ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการถ่ายทอดความพยายาม ความรักและภาคภูมิใจในมรดกตกทอดประเภทนี้ โครงการนี้ จึงให้ความสำคัญกับการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการกลุ่มศิลปินและช่างฝีมือ รวมทั้งภาคีในท้องถิ่นให้ทำหน้าที่วิทยากรและกระบวนกรร่วมกับคณะผู้วิจัยและผู้เชี่ยวชาญแขนงอื่น ๆ ที่จะนำเข้ามาในโครงการ
หากการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นลง. การประเมินผลลัพธ์เชิงสังคมที่เกิดจากโครงการจะช่วยให้คณะผู้วิจัยทราบว่า การจัดการกลไกที่ได้ออกแบบกระบวนการต่าง ๆ ขึ้นนั้น ช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้อต่างๆที่ตั้งไว้หรือไม่ นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวว่า การจัดการความรู้สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ (1) บรรลุเป้าหมายของงาน (2) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน (3) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปเป็นองค์กรเรียนรู้ (4) บรรลุความเป็นชุมชน เป็นหมู่คณะ ความเอื้ออาทรระหว่างกันในที่ทํางาน ส่วนการบรรลุผลสัมฤทธิ์ในการจัดการความรู้ สามารถแบ่งได้เป็น 5 ประการ คือ (1) การสนองตอบ (Responsiveness) ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำความรู้นั้นไปใช้งาน เช่น สนองตอบต่อความต้องการของตลาด สนองตอบต่อความต้องการของสังคมส่วนรวม (2) การมีนวัตกรรม (Innovation) ทั้งที่เป็นนวัตกรรมในการทํางาน และนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์หรือบริการ (3) ขีดความสามารถ (Competency) ของปัจเจกและองค์กร (4) ประสิทธิภาพ (Efficiency) ซึ่งหมายถึง สัดส่วนระหว่างผลลัพธ์กับต้นทุนที่ลงไป การทํางานที่ประสิทธิภาพสูง หมายถึง การทํางานที่ลงทุนลงแรงน้อยแต่ได้ผลมาก (5) การที่มีชุดความรู้ของตนเองที่ร่วมกันสร้างเองสําหรับใช้งานภายในชุมชนของตน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการจัดการความรู้ หลักการเหล่านี้ คณะผู้วิจัยสามารถนำไปพัฒนาเป็นเครื่องมือในการประเมินผลของกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ คนคืนถิ่น ช่างฝีมือผู้เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ อาทิ ชุดคำถามในการสะท้อนคิด (Reflection) หลังจากผ่านการอบรมของผู้เข้ารับการนอบรม และยังใช้ในการกำหนดตัวชี้วัดผลกระทบเชิงสังคมของตัวโครงการเองด้วย
ในภาพกว้าง ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสามารถประเมินได้จากสัดส่วน (Ratio) ขององค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ ประชากรที่มีงานทํา (Working population) ผลผลิต (Output) เงินทุนไหลเวียน (Capital) ผลิตภาพ (Productivity) ส่วนตัวชี้วัดในมิติเชิงสังคมของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม นั้นได้แก่ ข้อมูลของผู้ดําเนินการด้านศิลปวัฒนธรรม (Programmers) ข้อมูลแรงงานมีทักษะที่อยู่ในภาคไม่เป็นทางการ (Non-formal sector workforce) การอุดหนุนด้านเศรษฐกิจ และอัตราการขยายตัวทางผลิตภาพ (Productivity growth) ข้อมูลจํานวนสิทธิบัตร (Patent) หรือความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในผลิตภัณฑ์ และกระบวนการ โครงการต่าง ๆ ระดับอุดมศึกษา การบริจาค และการใช้จ่ายเงินเพื่อสวัสดิการสังคม และการดําเนินกิจกรรมด้านวัฒนธรรม รวมทั้งยังมีปัจจัยที่ไม่ใช่ปัจจัยเศรษฐกิจ อาทิเช่น ข้อมูลการเคลื่อนย้ายของแรงงานและเงินทุน การบริหารจัดการกฎหมายของแต่ละสังคม (Societal regimes of law) สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ วัฒนธรรมเชิงสังคม ปัจจัยโครงสร้างทางการเงิน จริยธรรม และลักษณะทางพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความร่วมมือ การมีส่วนร่วมของชุมชน ทัศนคติที่มีต่อชนกลุ่มน้อย ผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลนี้ คณะผู้วิจัยสามารถนำมาวิเคราะห์และปรับใช้เป็นตัวชี้วัดของการประเมินผลทางสังคมได้เช่นเดียวกัน
นอกจากเป้าหมายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการจัดกลไกความร่วมมือของชุมชนหัตถกรรม กลไกการถ่ายทอดองค์ความรู้ และกลไกในการจัดการองค์ความรู้ในพื้นที่ศึกษาแล้ว โครงการเยอเด๊เนอฯ ยังมีวัตถุประสงค์ในเชิงรูปธรรมในการสร้างกลุ่มของผลิตภัณฑ์และบริการเชิงวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ และสื่อดิจิทัลในการสร้างความตระหนักเชิงคุณค่าของวัฒนธรรมและส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์และบริการเหล่านั้นด้วย จากการสำรวจการใช้สื่อดิจิทัลในปัจจุบันทำให้เล็งเห็นแนวโน้มของมันในอนาคตได้ดังนี้[4] (1) การเชื่อมต่อ (Connections) ผ่านทางดิจิทัลเปลี่ยนแปลงวิธีติดต่อสื่อสาร และการดำเนินงานธุรกิจให้เกิดความรวดเร็ว ส่งผลให้การสื่อสารมีความต่อเนื่องและไร้พรมแดน สิ่งนี้ทำให้โอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชุมชนนั้นเปิดกว้างมากขึ้น (2) การมีปฏิสัมพันธ์ (Conversations) วิธีการสื่อสารของผู้ผลิตที่เคยเป็นแบบการสื่อสารทางเดียวกับผู้บริโภค (One-way) กลายมาเป็นการโต้ตอบแบบทันทีและต่อเนื่องระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคในอินเตอร์เน็ต ซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้และเข้าถึงผู้บริโภคในเชิงลึกมากขึ้นและในหน่วยที่กว้างขึ้น อีกทั้งยังทำให้แบรนด์หรือผู้ประกอบการได้รับข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้นด้วย (3) การร่วมกันสร้าง (Co-Creation) เป็นการสร้างนวัตกรรมและแนวคิดใหม่ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน ไม่เฉพาะผู้ประกอบการโดยลำพัง เนื้อหาทางการตลาดแบบเดิมจะถูกปรับให้เป็นเนื้อหาที่เกิดจากแนวคิดและความต้องการของผู้บริโภค (User-Generate Content) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคแสดงความคิดเห็นผ่านระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) (4) การพาณิชย์ (Commerce) กระแสของการค้าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Ecommerce) เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากความนิยมในการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ระบบแอพสโตร์ (AppStore) อย่างไอทูนส์ (iTune) และอีคอมเมิร์ซเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น อเมซอน (Amazon.com) ลาซาด้า (Lazada) แลแพลตฟอร์มของตลาด(Market place) เฉพาะกลุ่มอย่าง Pinkoi ที่จำหน่ายสินค้าประเภทหัตถกรรมร่วมสมัยจากทั่วโลก (5) ชุมชน (Community) ความหมายของชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพราะได้รับอิทธิพลเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและมีกิจกรรมเพื่อสังคม (Social Responsibility - Sustainability) สามารถเชื่อมโยงกับแบรนด์และองค์กรผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างมีคุณภาพ แนวโน้มเหล่านี้ คณะผู้วิจัยจะได้นำไปพิจารณาและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการสื่อสารเรื่องคุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการ ที่พัฒนาขึ้นมาจากทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ศึกษา
[1] Department of Culture, Media and Sport (2001), “Creative Industries Mapping Document 2001”, [2], London, UK, Access
[2] ผศ.เสาวรภย์ กุสุมา ณ อยุธยา, Creative Economy ทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
[3] (เอกวิทย์ ณ ถลาง (2540,หน้า 46 – 48)
[4] Deb Hentetta ประธานบริหารกลุ่มภาคพื้นเอเซียของพีแอนด์จีกล่าวถึงการที่ดิจิทัลกำลังเปลี่ยนโลกทั้งใบและกำลังเปลี่ยนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง ผ่าน 5 ประเด็นสำคัญ (Henretta อ้างถึงใน อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล, 2554: ออนไลน์)
คำสำคัญ
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์
ผลงานตีพิมพ์
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง