ความพร้อมในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิในสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาด
ของโรคไวรัสโคโรน่า 2019
บทความในวารสาร
ผู้เขียน/บรรณาธิการ
กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์
รายละเอียดสำหรับงานพิมพ์
รายชื่อผู้แต่ง: พัชรี ศรีน้อย และ มงคล นามลักษณ์
ผู้เผยแพร่: Faculty of Industrial Education and Technology, KMUTT
ปีที่เผยแพร่ (ค.ศ.): 2024
ชื่อย่อของวารสาร: JLIT
Volume number: 4
Issue number: 2
eISSN: 27739759
ภาษา: Thai (TH)
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินระดับความพร้อมในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนของโรคไวรัสโควิด-19 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ จำนวน 352 คน ซึ่งถูกเลือกแบบสุ่มแบบชั้นภูมิ จากทั้ง 11 แผนกวิชา เครื่องมือวิจัย คือ แบบสอบถามความพร้อมในการเรียนออนไลน์ 8 ด้าน และความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อดี ปัญหาและอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ ที่ปรับปรุงจากงานวิจัยในอดีต สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test) ผลการวิจัยพบว่าความพร้อมในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิโดยรวม ด้านปัจจัยภายนอก อยู่ในระดับปานกลาง (X= 3.36, S.D. = 0.88) และด้านปัจจัยภายใน อยู่ในระดับปานกลาง (X= 3.39, S.D. = 0.85) นักเรียนนักศึกษาหญิงแสดงระดับความพร้อมสูงกว่านักเรียนนักศึกษาชายอย่างมีนัยสำคัญในด้านแรงจูงใจในการเรียนออนไลน์ นักศึกษาระดับ ปวส. มีความพร้อมมากกว่านักเรียนระดับ ปวช.ในด้านอุปกรณ์เทคโนโลยี การควบคุมตนเอง แรงจูงใจในการเรียน และการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านการสื่อสารออนไลน์ นักเรียนนักศึกษาสายพานิชยการมีความพร้อมสูงกว่านักเรียนนักศึกษาสายช่างอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ในด้านการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และด้านแรงจูงใจในการเรียน นอกจากนี้พบว่าข้อดีของการเรียนออนไลน์ที่นักเรียนนักศึกษาให้ความสำคัญมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1) สามารถเรียนรู้เนื้อหาซ้ำด้วยตนเอง 2) ความสะดวกในการเรียนอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ และ 3) ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเรียน ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ที่นักเรียนนักศึกษาให้ความสำคัญมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1) ไม่สามารถฝึกทักษะในวิชาภาคปฏิบัติได้จริง 2) มีการบ้านเพิ่มมากขึ้น และ 3) เนื้อหายากที่จะเข้าใจด้วยการเรียนออนไลน์อย่างเดียว
คำสำคัญ
COVID-19, Online learning readiness