ปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้รถรับส่งนักเรียนแบบกำหนดจุดรับส่ง : กรณีศึกษาโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานคร
บทความในวารสาร
ผู้เขียน/บรรณาธิการ
กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์
รายละเอียดสำหรับงานพิมพ์
รายชื่อผู้แต่ง: Thanawat Thawattanapaisarn and Viroat Srisurapanon
ผู้เผยแพร่: King Mongkut’s University of Technology Thonburi
ปีที่เผยแพร่ (ค.ศ.): 2024
Volume number: 47
Issue number: 2
หน้าแรก: 118
หน้าสุดท้าย: 144
จำนวนหน้า: 27
นอก: ISSN 3027-7914 (Online)
URL: https://ripo.kmutt.ac.th/publication/v48n2/
ภาษา: Thai (TH)
บทคัดย่อ
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์: ผู้ปกครองจำนวนมากนิยมขับรถยนต์ส่วนตัวไปส่งบุตรหลานที่โรงเรียน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณโรงเรียนค่อนข้างชัดเจน รถรับส่งนักเรียนเป็นรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจที่สามารถใช้ทดแทนการขับรถยนต์มาส่งนักเรียนที่โรงเรียนได้ ผู้ปกครองไม่ต้องเสียเวลาในการขับรถมาส่งบุตรหลานที่โรงเรียนเอง อีกทั้งเป็นการรวมนักเรียนหลาย ๆ คนมาใช้รถคันเดียวกัน จึงช่วยลดปริมาณการจราจรบนท้องถนน บรรเทาปัญหารถติด และยังช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและลดมลพิษที่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงได้อีกด้วย การศึกษานี้จึงมุ่งวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้ปกครองที่มีต่อการใช้หรือไม่ใช้รถรับส่งนักเรียน ปัจจัยเหล่านี้สามารถนำมาใช้กำหนดแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ปกครองเปลี่ยนมาใช้รถรับส่งนักเรียนแทนการขับรถยนต์ไปส่งบุตรหลานที่โรงเรียนให้มากขึ้นได้
วิธีดำเนินการวิจัย: การศึกษานี้ใช้โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นกรณีศึกษา โรงเรียนรุ่งอรุณตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเทพมหานคร (แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน) ผู้วิจัยเปิดทดลองให้ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนแบบกำหนดจุดรับส่ง และหลังจากสิ้นสุดบริการ ทำการสำรวจข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณทางโทรศัพท์ เกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ปกครอง ข้อมูลการเดินทางในปัจจุบัน และข้อมูลจากสถานการณ์ทางเลือกสมมติ ผู้ปกครองทุกคนต้องตอบแบบสอบถามในส่วนข้อมูลทั่วไปของผู้ปกครอง ข้อมูลการเดินทางในปัจจุบัน และข้อมูลจากสถานการณ์ทางเลือกสมมติ 2 ตัวแปร ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนและระยะเวลาในการเดินทางที่ผู้ปกครองไปส่งบุตรหลานขึ้นรถรับส่งนักเรียน เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก เพื่อหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถรับส่งนักเรียน
ผลการวิจัย: จากการวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะทางสังคมของผู้ปกครอง พบว่า ปัจจุบัน ผู้ปกครองที่ให้บุตรหลานใช้รถรับส่งนักเรียนมีร้อยละ 15.6 ส่วนอีกร้อยละ 84.4 ขับรถยนต์ไปส่งนักเรียนที่โรงเรียนเอง จากการนำตัวแปรต่าง ๆ มาสร้างแบบจำลองการถดถอยโลจิสติกแบบทวินาม เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้รถรับส่งนักเรียน พบว่ามีตัวแปร 5 ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้รถรับส่งนักเรียน ได้แก่ ระยะเวลาในการเดินทางไปส่งบุตรหลานด้วยรถยนต์ ค่าใช้จ่ายในการใช้รถรับส่ง ระยะเวลาในการเดินทางไปส่งบุตรหลานขึ้นรถรับส่งนักเรียน ประสบการณ์ในการให้บุตรหลานใช้รถรับส่งนักเรียน และระดับอายุของผู้ปกครอง
สรุป: นอกจากปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายในการใช้รถรับส่งนักเรียนและปัจจัยด้านระยะเวลาในการเดินทางไปส่งบุตรหลานขึ้นรถรับส่งนักเรียนที่ส่งผลต่อการเลือกใช้หรือไม่ใช้รถรับส่งนักเรียนโดยตรงแล้ว ยังพบว่า ระยะเวลาในการเดินทางไปส่งบุตรหลานด้วยรถยนต์ที่มากขึ้นยังมีส่วนช่วยให้ผู้ปกครองเลือกใช้รถรับส่งนักเรียนมากขึ้น เนื่องด้วยผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกรูปแบบการเดินทางไปโรงเรียน จึงทำให้ผู้ปกครองที่ได้ประโยชน์จากการประหยัดเวลาจากการไปส่งบุตรหลานที่โรงเรียนสนใจใช้รถรับส่งนักเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยด้านประสบการณ์ในการให้บุตรหลานใช้รถรับส่งนักเรียนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจ ในการศึกษานี้ พบว่า ผู้ที่เคยให้บุตรหลานใช้รถโรงเรียนมาก่อนมีแนวโน้มว่าจะให้บุตรหลานใช้รถรับส่งนักเรียนมากกว่าผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ ส่วนปัจจัยด้านอายุของผู้ปกครองนั้น พบว่า ผู้ปกครองในช่วงอายุที่สูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะเลือกให้บุตรหลานใช้รถรับส่งนักเรียนมากขึ้นเช่นกัน
การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ: จากการทดลองให้บริการรถรับส่งนักเรียนแบบรับส่งเฉพาะจุดไปยังโรงเรียนรุ่งอรุณ พบว่า การมีนโยบายให้ผู้ปกครองได้มีประสบการณ์ในการใช้รถรับส่งนักเรียนมากขึ้นจะส่งผลให้แนวโน้มในการใช้รถรับส่งนักเรียนสูงขึ้น ทั้งนี้ ทางโรงเรียนควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาคมเข้าใจถึงสาเหตุของการจราจรติดขัด อันเนื่องมาจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมาก และทราบเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีบริการรถรับส่งนักเรียน เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักและหันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
คำสำคัญ
Logistic regression, School bus, School travel