การประเมินประชากรและการหาแนวทางการจัดการเพื่อการวางแผนการอนุรักษ์สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพ


หัวหน้าโครงการ


ผู้ร่วมโครงการ


สมาชิกทีมคนอื่น ๆ

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


รายละเอียดโครงการ

วันที่เริ่มโครงการ01/10/2022

วันที่สิ้นสุดโครงการ30/09/2023


คำอธิบายโดยย่อ

โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายที่จะสร้างเสริมฐานข้อมูลด้านสัตว์ป่าโดยเฉพาะข้อมูลด้านประชากรเบื้องต้นและข้อมูลพลวัตรประชากร เพื่อใช้เป็นคลังข้อมูลสำหรับการประเมินผลกระทบระยะยาวต่อประชากรสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากภัยคุกคามของมนุษย์และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ด้วยสิ่งมีชีวิตมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน และสัตว์ป่าแต่ละชนิดมีความเปราะบางแตกต่างกันแล้วแต่สภาพพื้นที่ที่อยู่อาศัย เพื่อความเข้าใจในการตอบสนองของสัตว์ป่าต่อการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายรูปแบบ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องวางแนวทางการศึกษาให้กว้างเพื่อครอบคลุมสภาพพื้นที่และชนิดพันธุ์ที่เป็นตัวบ่งชี้ของผลกระทบ คณะนักวิจัยจึงเลือกสัตว์ในกลุ่มนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศต่างๆในประเทศไทย ทั้งป่าบก ป่าชายเลน และพื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งนี้สัตว์ป่าหลายชนิดไม่มีงานศึกษาวิจัยพื้นฐานที่จะสามารถนำไปวิจัยต่อยอดได้ทั้งหมด มีเพียงบางชนิดที่ทางห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ได้ทำการศึกษาไปบางส่วน การทำวิจัยในครั้งนี้จึงแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ดังนี้ 1) ส่วนข้อมูลสถานภาพการกระจายและขนาดประชากรเบื้องต้น 2) ส่วนการทำวิจัยติดตามตรวจสอบระยะยาวในพื้นที่ที่มีข้อมูลพื้นฐานแล้วบางส่วน (พื้นที่ที่เป็นแหล่งประชากรที่สำคัญและพื้นที่ที่มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของประชากรในระยะยาว) เพื่อให้เห็นภาพรวมข้อมูลทางด้านสถิติประชากรในพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์สัตว์นั้นๆ ทั้งนี้ภัยคุกคามและระดับของภัยคุกคามในแต่ละพื้นที่และแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญต่อการวางแผนการจัดการการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันสัตว์ป่ามีการใช้พื้นที่ซ้อนทับกับมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากต่อการจัดการสัตว์ป่านอกพื้นที่อนุรักษ์ ด้วยเหตุนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชจัดให้แผนการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ยุทธศาสตร์: สงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างบูรณาการและยั่งยืน) เป็นประเด็นสำคัญต่อการศึกษาวิจัยระดับชาติ (สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) การดำรงรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและสมดุลของระบบนิเวศ นำไปสู่ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชน สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน ดังนั้นการวางแนวทางศึกษาวิจัยที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติทั้งชนิดพันธุ์สัตว์และสภาพสังคมป่าจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อตอบโจทย์การบูรณาการการจัดการสัตว์ป่าและป่าไม้

          ชุดโครงการวิจัยนี้มีระยะเวลาในการดำเนินงานช่วงเริ่มต้น 3 ปี (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2568) โดยแบ่งกรอบการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน 1) ส่วนแรกจะเป็นการประเมินการแพร่กระจายสัตว์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน (หรือในพื้นที่ที่เคยมีการสำรวจในอดีต แต่ไม่สามารถยืนยันสถานภาพการปรากฎในปัจจุบันได้) สถานภาพกระจายในภาพรวมของชนิดพันธุ์นั้นๆ ทำให้ทราบว่ามีประชากรสัตว์กลุ่มเป้าหมายอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง และพื้นที่ใดเป็นแหล่งประชากรที่สำคัญ (Priority sites) เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลือกพื้นที่ที่จะทำการประเมินประชากรเบื้องต้น ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการสำรวจประชากรในลำดับต่อไป 2) ส่วนที่สองจะเป็นการติดตามตรวจสอบประชากรซ้ำในพื้นที่ที่เป็นแหล่งประชากรที่สำคัญของสัตว์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ที่เหมาะสม หรือพื้นที่ที่มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของประชากรในระยะยาว (Long-term monitoring sites) เพื่อให้ได้ค่าสถิติประชากร (Demographic parameters) ของสัตว์เหล่านั้นในแต่ละพื้นที่ (เช่น ขนาดประชากรและความหนาแน่นของประชากรในแต่ละช่วงเวลาสำรวจ อัตราการเปลี่ยนแปลงประชากร อัตราการรอดชีวิต อัตราการทดแทน) ค่าสถิติประชากรเหล่านี้ เมื่อนำมาคำนวณร่วมกันจะสามารถประเมินความสามารถในการดำรงอยู่ของประชากรสัตว์กลุ่มเป้าหมายในอนาคต (Population viability) พร้อมทั้งการนำข้อมูลในส่วนที่สามเข้ามาวิเคราะห์และทำนายในแบบจำลองร่วมกัน 3) สำหรับงานส่วนที่สามนี้เป็นการประเมินประเภทและระดับของภัยคุกคามจากมนุษย์ต่อสัตว์กลุ่มเป้าหมายในหลากหลายพื้นที่ เพื่อใช้ในการทำนายความสามารถในการดำรงอยู่ของประชากรต่อการเปลี่ยนแปลงจากสภาพป่าที่แตกต่างกัน รวมทั้งหาแนวทางการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในระดับสูง เช่น ปัญหาคนกับช้าง ที่มีความสำคัญเร่งด่วนตามแผนของกรมอุทยานฯ โดยวัตถุประสงค์ส่วนนี้จะใช้ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ (Social Science Research) และการดูร่องรอยการรบกวนของมนุษย์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในช่วงระหว่างที่ทำการสำรวจเก็บข้อมูลภาคสนาม ซึ่งประเด็นปัญหา wildlife crime เป็นประเด็นสำคัญในการลดลงของประชากรสัตว์ในทุกกลุ่มที่ใช้เป็นตัวชี้วัดและเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ จากระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ศึกษานั้นๆ 

          โครงการย่อยทั้งหมดเชื่อมโยงกันด้วยกรอบการวิจัยที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่จะแบ่งการทำงานภาคสนามออกเป็น 3 โครงการย่อยด้วยกัน โดยโครงการย่อยที่ 1 และ 2 จะเป็นการศึกษาที่เน้นไปที่การเสริมสร้างข้อมูลพื้นฐานทั้งทางด้านประชากรสัตว์ป่าและรูปแบบ/ระดับของภัยคุกคามจากมนุษย์ในแต่ละพื้นที่  ในขณะที่โครงการย่อยที่ 3 จะเป็นการศึกษาหาแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน  สำหรับโครงการย่อยที่ 1 จะเป็นการศึกษาสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำ หย่อมป่าขนาดเล็กและอยู่ใกล้กับชุมชน โครงการย่อยที่ 2 จะเป็นการศึกษาสัตว์ผู้ล่าขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่เป็นตัวบ่งชี้สภาพป่าที่สมบูรณ์ในป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ และสัตว์ที่มีพื้นที่การกระจายตัวกว้างอย่างกลุ่มนก โดยจะมีการประเมินสถานภาพการกระจายและระดับภัยคุกคามต่างๆของกลุ่มนกในพื้นที่หลายกลุ่มป่าอนุรักษ์ และทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มนกชนิดเดียวกันที่มีการกระจายในต่างประเทศด้วย เนื่องจากมีปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงประชากรที่ต่างกัน  เช่นสภาพอากาศ เป็นต้น จึงจะทำการวิจัยในพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าประเทศไทย (ตอนเหนือของพม่าและจีน) และในระดับละติจูดใกล้เคียงกับประเทศไทย (ประเทศเวียดนาม) และในท้ายที่สุดโครงการย่อยที่ 3 ทดสอบประสิทธิภาพของวิธีการที่จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับช้างป่า เป็นหนึ่งในความเร่งด่วนด้านการจัดการสัตว์ป่า เพราะการตายจากความขัดแย้งจะทำให้ประชากรของช้างลดลงอย่างมาก

          ผลลัพธ์จากชุดโครงการนี้ จะถูกส่งมอบให้กับหน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่หลักในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในรูปแบบของการประชุมร่วมเพื่อนำเสนอข้อมูล ข้อเสนอแนะ รายงานสรุปผลการวิจัยและฐานข้อมูลด้านสัตว์ป่าแบบเปิด (Open access database) รวมทั้งให้ความรู้ด้านการวิเคาะห์ข้อมูลด้านประชากรสัตว์ป่ากับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวางแผนการจัดการที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชนิดพันธุ์และพื้นที่ที่อยู่อาศัย รวมทั้งประเมินศักยภาพและความเหมาะสมของมาตรการป้องกันพื้นที่จากภัยคุกคาม เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระยะยาว นอกจากนี้ยังจะมีการเผยแพร่ผลงานเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการศึกษาในพื้นที่อื่นๆที่มีบริบทใกล้เคียงกัน ทั้งการนำเสนอในงานประชุมระดับชาติและระดับนานาชาติ การตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารต่างประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ


คำสำคัญ

  • biodiversity
  • ecosystem equilibrium
  • human-wildlife conflict
  • population viability analysis


กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์


ผลงานตีพิมพ์

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


อัพเดทล่าสุด 2024-11-12 ถึง 15:05