การใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือและการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในโซ่การผลิตและการแปรรูปสับปะรดภูแล เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
หัวหน้าโครงการ
ผู้ร่วมโครงการ
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
สมาชิกทีมคนอื่น ๆ
รายละเอียดโครงการ
วันที่เริ่มโครงการ: 19/04/2023
วันที่สิ้นสุดโครงการ: 18/04/2024
คำอธิบายโดยย่อ
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการผลิตสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมากและมีการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ทั้งในลักษณะสินค้าสดและสินค้าแปรรูป โดยตลาดคู่ค้าที่สำคัญคือประเทศในแถบเอเชีย ยุโรป และอเมริกา สำหรับ Product champion ในกลุ่มสินค้าเกษตรของประเทสไทยมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดและหนึ่งในนั้นคือสับปะรด ซึ่งมีการส่งออกทั้งในลักษณะผลสด การแปรรูปเบื้องต้น (เช่น สินค้าตัดแต่งพร้อมบริโภค) และการแปรรูปบรรจุกระป๋องหรืออบแห้ง ในขั้นตอนการแปรรูปในรูปแบบต่างๆ นั้นพบว่ามีเศษเหลือทิ้งเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นเปลือกและแกนสับปะรดที่มีการนำไปเป็นอาหารสัตว์ อย่างไรก็ตามเศษเหลือทิ้งเหล่านั้นยังคงอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารและโภชนาการ และมีศักยภาพที่จะนำไปใช้ประโยชน์โดยการเพิ่มมูลค่าพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงสำหรับมนุษย์ ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นานาประเทศให้ความสำคัญในปัจจุบัน จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่ายังมีการพัฒนาในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสับปะรดอยู่ไม่มากนัก ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาและพัฒนาเพิ่มเติม โดยในการวิจัยนี้มุ่งเน้นในการศึกษาการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือทิ้งของสับปะรดภูแลที่มีพื้นที่ปลูกและแปรรูปใกล้กับหน่วยงานวิจัยร่วม และมีวัตถุดิบสำหรับการดำเนินงานตลอดทั้งปี ซึ่งการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือทิ้งจะมุ่งประเด็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูงโดยการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่คณะนักวิจัยมีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์
อย่างไรก็ตามการค้าของสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างประเทศในอนาคตนั้นมีแนวโน้มในการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าประเทศไทยได้มีการลงนามเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ แต่มาตรการที่มิใช่ภาษีกลับกลายเป็นข้อจำกัดในการค้าโดยเฉพาะประเด็นเรื่องคุณภาพของสินค้าเกษตรและอาหารได้ถูกยกมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีการตื่นตัวในเรื่องของการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตรกันมากขึ้นเพื่อคงความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยส่วนหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ก็คือการเน้นเรื่องกระบวนการผลิตในโซ่อุปทานที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น การเกิดก๊าซเรือนกระจก การเกิดของเหลือทิ้งในกระบวนการต่างๆ นอกจากนี้ กระบวนการแปรรูปอุตสาหกรรมยังปล่อยสารฮาโลคาร์บอนที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกทำให้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเวทีการค้าโลก ที่จะมีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน (carbon border adjustment mechanism; CBAM) โดยจะเรียกเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามเป้าหมายสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ โดยระเบียบของ CBAM จะเริ่มบังคับใช้เต็มที่ในวันที่ 1 มกราคม 2569 ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของสินค้าเกษตรไทยทั้งผลิตผลสดและแปรรูปจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการศึกษาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโซ่อุปทานการผลิตสับปะรดภูแลตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำจึงเป็นอีกประเด็นสำคัญสำหรับการวิจัยนี้ เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับสินค้าเกษตรชนิดอื่นในอนาคต
ทั้งนี้ในโครงการวิจัยนี้ได้ตระหนักถึงการบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อลดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการงานทางด้านเกษตรกรรม โดยเลือกสับปะรดภูแลเข้ามาเป็นโมเดลการศึกษาเนื่องจากมีผลิตผลตลอดทั้งปีทำให้ไม่มีปัญหาของฤดูกาลมาเป็นข้อจำกัดในการวิจัย โดยจะได้ทำการศึกษาการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือทิ้งของสับปะรดภูแลเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูงซึ่งจะนำเอานวัตกรรมที่มีพื้นฐานจากงานวิจัยมาใช้ในกระบวนการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปเบื้องต้นของสับปะรดภูแลเป็นสินค้ามูลค่าสูงเพื่อให้เกิด Zero waste และศึกษาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของกระบวนการการปลูกสับปะรดภูแล ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างอัลกอริทึมทางคณิตศาสตร์เพื่อให้สามารถได้ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ออกมาอย่างรวดเร็วและเข้าใจง่าย และประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมการเกษตรและสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในผลผลิตการเกษตรต่อไป โดยคณะผู้วิจัยมีความมุ่งหวังว่าผลการวิจัยสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับแนวคิด และการปรับใช้กับผลิตภัณฑ์เกษตรและอื่นๆ ในอนาคต
คำสำคัญ
- Low carbon
- Net zero emission
- Zero Waste
กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์
ผลงานตีพิมพ์
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง