การลดปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาลของมะพร้าวน้ำหอมโดยการใช้เมลาโทนินและซิโตรเนลล่า
หัวหน้าโครงการ
ผู้ร่วมโครงการ
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
สมาชิกทีมคนอื่น ๆ
รายละเอียดโครงการ
วันที่เริ่มโครงการ: 01/10/2023
วันที่สิ้นสุดโครงการ: 30/09/2024
คำอธิบายโดยย่อ
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังส่วนต่างๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในหลายยุคหลายสมัยที่ต้องการนำประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก นอกจากนี้รัฐบาลในยุคปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษกิจของชาติโดยใช้ BCG model จะเห็นได้ว่านโยบายต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับทรัพยากรฐานชีวภาพที่มีอย่างหลากหลายในประเทศไทย ข้อมูลในปี 2564 พบว่าไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 8 ของโลก ถึงแม้ในช่วงปี 2563 ประเทศไทยจะประสบปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่โควิด-19 แต่ในปี 2564 ในช่วงไตมาสแรกมีการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 13% จะเห็นได้ว่าประชากรโลกยังคงต้องการอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีวิต โดย FTA เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าของไทยไปยัง 18 ประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ประเทศไทยได้ส่งสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีนประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ในกลุ่มความร่วมมือ FTA เป็นที่น่าสนใจว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่โควิด-19 ไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมของประเทศไทยแต่ในทางกลับกันมีปริมาณการส่งออกขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับพืชเศรษฐกจชนิดอื่นๆ ดังนั้นมะพร้าวน้ำหอมจึงเป็นพืชที่มีศักยภาพที่ควรส่งเสริมการผลิตให้มีคุณภาพและมาตรฐาน สำหรับการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมของประเทศไทยมีการส่งออกหลายรูปแบบ เช่น มะพร้าวทั้งผล มะพร้าวควั่นส่วนสีเขียวออกไป และมะพร้าวเจียที่มีส่วนของกะลาที่ทำการขัดผิว สำหรับปริมาณการส่งออกพบว่ามะพร้าวส่วนใหญ่มีการส่งออกในลักษณะมะพร้าวควั่นที่เหลือส่วนของเปลือกสีขาวไว้เป็นฐานและห่อหุ้มส่วนของกะลา อย่างไรก็ตามการตัดแต่งมะพร้าวด้วยวิธีการนี้มักประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสีของเปลือกมะพร้าวจากสีขาวไปเป็นสีน้ำตาลที่เกิดจากการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับ browning reaction ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการที่ผู้บริโภคปฏิเสธการซื้อสินค้าและทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากมีขยะอาหารเพิ่มขึ้นจากการสูญเสียคุณภาพ สำหรับแนวทางในอดีตที่ใช้ในการควบคุมการเกิดสีน้ำตาลของสินค้าเกษตรพบว่ามีการใช้สารโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์กันอย่างกว้างขวางโดยยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้งานอย่างถูกต้อง และไม่ทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวผู้ปฏิบัติงานโดยตรงจึงเกิดการละเลยและมีการใช้กันอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามจากการที่ประเทศคู่ค้ามีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้โซเดีมเมตาไบซัลไฟต์ที่อาจส่งผลต่อการเกิดอาการแพ้ของผู้บริโภค ทำให้ประเทศไทยต้องทบทวนในเรื่องการใช้สารชนิดนี้และต้องหาสารชนิดใหม่ที่มีความเป็นมิตรต่อผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น สำหรับการศึกษาของผู้วิจัยที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการใช้สารทดแทนเพื่อควบคุมการเกิดสีน้ำของมะพร้าวน้ำหอมโดยการใช้สารในกลุ่มกรดอะมิโนและกรดอินทรีย์พบว่ามีประสิทธิภาพในการลดการเกิดสีน้ำตาลของมะพร้าวควั่น แต่ยังมีประเด็นที่ต้องคำนึงคือต้นทุนของสารและการกัดกร่อนของสารเคมีที่ใช้กับภาชนะและอุปกรณ์ต่างๆ ดังนั้นการใช้สารทดแทนชนิดอื่นเพื่อควบคุมการเกิดสีน้ำตาลของมะพร้าวน้ำหอมจึงมีความจำเป็น โดยงานวิจัยนี้มีความสนใจที่จะใช้เมลาโนทินและซิโตรเนลล่าที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ ต่อการควบคุมการเกิดสีน้ำตาลของมะพร้าวน้ำหอม และศึกษาปัจจัยร่วมระหว่างสารควบคุมการเกิดสีน้ำตาลและบรรจุภัณฑ์ต่อคุณภาพในระหว่างการขนส่งและการวางจำหน่ายของมะพร้าวน้ำหอมที่อุณหภูมิต่ำ ทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงสีของมะพร้าวน้ำหอมจากลักษณะภายนอกและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาลในพืช รวมทั้งการเปลี่ยนแลงคุณภาพของน้ำภายในผลมะพร้าวน้ำหอม ทั้งนี้มะพร้าวที่ใช้ในงานวิจัยจะได้รับมาจากเกษตรกรผู้ผลิตมะพร้าวคุณภาพในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ผลการวิจัยที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการ ชุมชนผู้ผลิตมะพร้าวในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และผู้ประกอบการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมต่อไป
คำสำคัญ
- aromatic coconut
- browning
- citronella
- melatonin
- Storage
กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์
ผลงานตีพิมพ์
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง