การพัฒนาแพลตฟอร์มของระบบนิเวศการศึกษาด้านอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงานร่วมกับการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์เพื่อพัฒนากำลังคนพร้อมใช้ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


หัวหน้าโครงการ


ผู้ร่วมโครงการ


สมาชิกทีมคนอื่น ๆ


รายละเอียดโครงการ

วันที่เริ่มโครงการ01/05/2021

วันที่สิ้นสุดโครงการ30/04/2023


คำอธิบายโดยย่อ

ด้วย ประเทศไทยมีนโยบายที่จะนำประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนสำคัญที่มีความจำเป็นต้องปรับตัวจากอุตสาหกรรมฐานการผลิตไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมฐานความรู้และนวัตกรรม ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องมีกำลังคนที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถสอดคล้องตามบริบทของรูปแบบอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งความต้องการกำลังคน นั้น อุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานทักษะที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ กำลังคนที่มีความรู้ความเข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงพอในการนำมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการทางอุตสาหกรรม และบุคลากรที่สามารถถ่ายทอดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานให้แก่แรงงานทักษะ และพัฒนาโครงการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมได้ จากความต้องการกำลังคนแต่ละรูปแบบ การจัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปริญญาตรี และปริญญาโทร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกที่ช่วยผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศได้

ที่ผ่านมา การจัดการศึกษาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การศึกษาระบบทวิภาคีในหลักสูตร ปวส. โดยสถานประกอบการจะเปิดโอกาสให้ได้ฝึกปฏิบัติงานจริง เพื่อให้เกิดทักษะในสาขาอาชีพ โครงการสหกิจสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีโดยออกแบบประสบการณ์การทำงานให้กับนักศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และทักษะตามสาขาวิชา ทั้งสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการต้องร่วมกันออกแบบกิจกรรม/การฝึกปฏิบัติงาน และโครงการวิจัยร่วมอุตสาหกรรมในการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา โดยใช้กลไกการทำวิทยานิพนธ์ในการดำเนินโครงการวิจัยสำหรับอุตสาหกรรม จากการจัดการศึกษาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมรูปแบบต่างๆ พบว่า แนวทางการดำเนินงานที่ดีมาจากการกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมที่มีความชัดเจนและการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด ภายใต้ระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ แนวทางการดำเนินงานดังกล่าวเป็นปัจจัยความสำเร็จที่ส่งเสริมการผลิตกำลังคนสำหรับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ได้ตามจำนวนที่สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งหากมีการเชื่อมโยงกับนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ การผลิตกำลังคนและการเพิ่มความสามารถในภาคอุตสาหกรรมจะพัฒนาควบคู่กันอย่างเป็นระบบ

การพัฒนาแพลตฟอร์มของระบบนิเวศการศึกษาด้านอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงานร่วมกับการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์เพื่อพัฒนากำลังคนในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นชุดโครงการวิจัยซึ่งประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อย 1) การพัฒนานักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมสำหรับการเตรียมกำลังคนที่พร้อมทำงานในภาคอุตสาหกรรมผ่านโครงการนำร่องในการพัฒนาผู้เรียนตํ่ากว่าปริญญาตรีภายใต้การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงานร่วมกับการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ 2) การพัฒนานักศึกษาระดับปริญญาตรีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหาในการทำงานผ่านโครงการนำร่องการพัฒนาผู้เรียนภายใต้แนวคิดการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงานร่วมกับการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ และ 3) การพัฒนานักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาขาช่างอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับความสามารถในการปฏิบัติงานผ่านโครงการนำร่องพัฒนานักศึกษาช่างอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงานร่วมกับการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ เพื่อศึกษาระบบนิเวศของการจัดการศึกษาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในระดับ ปวส. ปริญญาตรี และปริญญาโท ซึ่งมีบริบทในการดำเนินงานแตกต่างกันตลอดจนความสัมพันธ์กันของการศึกษาทั้ง 3 ระดับ และแพลตฟอร์มในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตกำลังคนให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการนี้คือ แพลตฟอร์ม (ระบบ) การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงานร่วมกับการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์เพื่อพัฒนากำลังคนในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการระดับ ปวส. 232 คน ปริญญาตรี 25 คน และปริญญาโท 14 คน มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมในโครงการ 3 แห่ง ร่วมกับสถานประกอบการ 3 แห่ง ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยภาคอุตสาหกรรมจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้แก่อุตสาหกรรมของประเทศ ขณะที่ภาคการศึกษาได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลการพัฒนาทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม


คำสำคัญ

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์


ผลงานตีพิมพ์

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


อัพเดทล่าสุด 2025-21-02 ถึง 11:15