การสกัดสารให้สีและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเซียนท้อเป็นส่วนผสมอาหารเพื่อสุขภาพต้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
หัวหน้าโครงการ
ผู้ร่วมโครงการ
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
สมาชิกทีมคนอื่น ๆ
รายละเอียดโครงการ
วันที่เริ่มโครงการ: 01/10/2020
วันที่สิ้นสุดโครงการ: 30/09/2021
คำอธิบายโดยย่อ
สังคมไทยในยุคปัจจุบัน มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีความเร่งรีบในการเดินทาง และบริโภคอาหารจานด่วน มีความเอาใจใส่เรื่องของสุขภาพลดน้อยลง ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้รับสารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ส่งผลต่อภาวะโรคอ้วน และเป็นสาเหตุของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 36 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63 ของสาเหตุการตายทั้งหมด สำหรับประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึงร้อยละ 75 หรือประมาณ 320,000 คนต่อปี ส่วนมากเป็นกลุ่มประชากรวัยทำงาน
เซียนท้อมีสารพฤกษเคมีที่สำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ได้แก่ สารประกอบฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์ ที่มีสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีแคโรทีนอยด์ที่สำคัญคือ zeaxanthin ให้สีเหลืองส้ม ซึ่งพบน้อยในพืชผลไม้ชนิดอื่น สามารถใช้เป็นสารเติมแต่งสีธรรมชาติในอาหาร และมีคุณสมบัติที่ดีต่อสายตา รวมทั้งเนื้อผลเซียนท้อมีเนื้อสัมผัสที่หวานมันคล้ายอะโวกาโด และยังไม่มีรายงานถึงชนิดและปริมาณกรดไขมัน แต่คาดว่าน่าจะเป็นโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 และโอเมก้า 9 ซึ่งเป็นไขมันที่ดีในผลไม้ ตลอดจนคุณสมบัติต่างๆ สามารถนำเซียนท้อมาเป็นสารเติมแต่งอาหารเชิงหน้าที่ อาหารเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะในการเป็นสารต้านเบาหวานชนิดที่ 2 รวมทั้งต้านความดันโลหิตสูง จากการที่เซียนท้อมีราคาไม่แพง กิโลกรัมละ 10 บาท มีการบริโภคในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทย และลาว การบริโภคเซียนท้อให้ได้ปริมาณสารสำคัญที่เพียงพอนั้นต้องบริโภคปริมาณมากทำให้ได้รับสารอื่นๆ ปริมาณมากไปด้วย เช่น น้ำตาล ดังนั้นจึงควรนำเซียนท้อมาสกัดเพื่อให้ได้สารสำคัญต่างๆ อย่างไรก็ตามวิธีการสกัดสารสำคัญจากเซียนท้อยังมีรายงานน้อยมาก แต่การได้มาซึ่งสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากพืชนั้นขึ้นอยู่กับสภาพการปลูก วิธีการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งวิธีการสกัดสารโดยวิธีการสกัดที่เหมาะสมมีผลต่อการได้รับสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ต้องการ การสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากพืชมีหลากหลายวิธีทั้งการใช้สารเคมี ได้แก่ maceration และการสกัดด้วยวิธี soxhlet ซึ่งยังคงใช้เป็นวิธีการอ้างอิงของวิธีสกัดแบบใหม่ ซึ่งการสกัดนี้ใช้ตัวทำละลาย (solvents) ในการสกัดซึ่งต้องใช้ปริมาณมาก จึงอาจเกิดปฏิกิริยาข้างเคียงและมีสารเคมีตกค้าง ส่งผลต่อการนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องสำอาง (Carla และคณะ, 2013) ตามบัญญัติขององค์การอาหารและยา ปี 2560 อนุญาตให้ใช้เฉพาะน้ำและแอลกอฮอล์ในการสกัดเท่านั้น ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่เป็นสารไม่มีขั้ว จึงมีการใช้วิธีการสกัดทางกายภาพ มาใช้ร่วมด้วย ได้แก่ ultrasound assisted extraction (UAE) การใช้เอนไซม์ในการสกัด (enzyme-assisted extraction; EAE) และการสกัดแบบ microwave-assisted extraction (MAE) นอกจากนี้ยังมีการสกัดด้วย supercritical fluid extraction (SFE) และการสกัดอีกวิธีหนึ่งคือ pressurized liquid extraction (PLE)
ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงสนใจศึกษาวิธีการสกัดสารพฤกษเคมี สารให้สี ส่วนผสมเชิงหน้าที่จากเซียนท้อด้วยตัวทำละลาย (นํ้าและเอทานอล) ร่วมกับวิธีทางกายภาพ ultrasound assisted extraction (UAE) และพัฒนาเป็นอาหารพร้อมบริโภคสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ใหญ่วัยทำงาน ที่มีภาวะเร่งรีบในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน และบริโภคอาหารจานด่วนทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่งผลต่อภาวะโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งนี้เป็นการเพิ่มทางเลือกในการบริโภคสารสกัดเซียนท้อ นอกจากมีผลต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ยังช่วยส่งเสริมการมองเห็น บำรุงสายตา อีกทั้งเป็นการส่งเสริมลดการนำเข้าสารสกัดจากพืช เป็นการเพิ่มมูลค่าของเซียนท้อ ที่มีการปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ อีกทั้งลดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้การสกัดด้วยเทคนิคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
คำสำคัญ
- เซียนท้อ
- สารต้านโรคความดันโลหิตสูง
- สารต้านโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- สารต้านอนุมูลอิสระ
- สารให้สี
กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์
ผลงานตีพิมพ์
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง