การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตสดทางการเกษตรสำหรับชุมชน


หัวหน้าโครงการ


ผู้ร่วมโครงการ


สมาชิกทีมคนอื่น ๆ

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


รายละเอียดโครงการ

วันที่เริ่มโครงการ24/03/2021

วันที่สิ้นสุดโครงการ23/03/2022


คำอธิบายโดยย่อ

ความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยทางอาหารเป็นประเด็นสำคัญสำหรับประเทศไทยเนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการผลิตสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมากและมีการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นการส่งเสริมนโยบายการเป็นครัวของโลก อย่างไรก็ตามคุณภาพของสินค้าเกษตรมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าผลิตผลทางการเกษตรในประเทศไทยจำนวนมากมีการสูญเสียในระหว่างการเพาะปลูกและในช่วงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวรวมถึงในระหว่างการแปรรูปซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะองค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศจึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการลดการสูญเสียคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตรทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวซึ่งส่งผลให้ในอนาคตมีปริมาณอาหารเพียงพอสำหรับประชากรที่เพิ่มขึ้น  ปัจจุบันองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดจากการวิจัยยังมีการเข้าถึงได้ในวงจำกัด ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการจัดการความรู้โดยการให้นักวิจัยทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเป็นกระบวนการที่สำคัญสำหรับการดูแลรักษาผลผลิตทางการเกษตร เพราะหากมีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดการสูญเสียของผลผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ทั้งนี้คุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรจะต้องดีตั้งแต่ต้นน้ำคือในช่วงการเพาะปลูกไปจนกระทั้งช่วงปลายน้ำคือผู้บริโภคโดยอาศัยการจัดการคุณภาพในโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร ซึ่งจะต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สำคัญประกอบด้วยการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสรีรวิทยาของผลผลิตเกษตร การปฏิบัติที่ดีที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว การจัดการคุณภาพ การใช้เทคโนโลยีทางด้านบรรจุภัณฑ์ การควบคุมโรคและการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ และการจัดการด้านการตลาด ซี่งจะต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับผลิตผลทางการเกษตร

ปัญหาเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของประชากรโลก เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หลายประเทศได้หันมาให้ความสำคัญด้านการเพิ่มการผลิตอาหารรูปแบบใหม่และการเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นอาหารมากขึ้น โดยมีการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำการผลิต อย่างไรก็ตามผลิตผลทางการเกษตรจำนวนมากมีการสูญเสียในระหว่างการเพาะปลูกและในช่วงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวรวมถึงในระหว่างการแปรรูป ดังนั้นการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะองค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศจึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการลดการสูญเสียคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตรทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งส่งผลให้ในอนาคตมีปริมาณอาหารเพียงพอสำหรับประชากรที่เพิ่มขึ้น นอกจากปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารแล้วในปัจจุบันพบว่าประเทศไทยยังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่โควิด-19 ส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งต้องปิดตัวลงและทำให้ประชากรจำนวนมากไม่มีงานทำ โดยพบว่าแรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งได้มีการกลับไปสู่ภูมิลำเนาและประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งในหลายจังหวัดได้มีการจัดตั้งกลุ่ม Young Smart Farmer เพื่อส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่และเพื่อการผลิตอาหารที่ปลอดภัยโดยการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนา อย่างไรก็ตามองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ยังมีการเข้าถึงได้ในวงจำกัด ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการจัดการความรู้โดยการให้นักวิจัยทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน    สำหรับประเทศไทยนั้นจัดเป็นประเทศเกษตรกรรมโดยมีประชากรกว่า 9 ล้านคน (ประมาณร้อยละ 14 ของประชากรไทย) มีอาชีพทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้มีการนำไปใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออก ซึ่งทำรายได้เข้าสู่ประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อยเนื่องจากอาหารเป็น 1 ใน 4 ปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในขณะที่สถิติการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกมีมากขึ้นทุกปี ทำให้ความต้องการในการบริโภคสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับในปัจจุบันมีช่องทางการค้าขายที่หลากหลายทำให้สินค้าเกษตรจากแหล่งต่างๆ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในประเทศได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามจากการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการสาธารณสุข ทำให้ผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มต้องการสินค้าที่ดี มีคุณภาพ และมีความปลอดภัย  ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะเป็นครัวของโลกได้นั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดการด้านการผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของผลผลิตเกษตรโดยการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในประเทศเพื่อการพัฒนา  โดยการพัฒนาด้านการเกษตรนั้นมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่อยู่บนพื้นฐานของกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ซึ่งเป็นแผนหลักของการพัฒนาประเทศและมีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างและการปฏิรูปประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) โดยได้มีการกำหนดพันธกิจและยุทธศาสตร์ไว้ว่าต้องมีการสร้างฐานการผลิตให้เข้มแข็ง สมดุลอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต การค้า การลงทุน โดยเน้นการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงของอาหาร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ตามการปรับตัวด้านความสามารถในการแข่งขันยังมีน้อยโดยเฉพาะด้านการเกษตรอุตสาหกรรมและการบริการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการวิจัยเข้ามาช่วยสนับสนุนเพื่อทำให้ฐานการผลิตเกษตรอุตสาหกรรมและการบริการให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นประเทศไทยมีการผลิตสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมากนั้น การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญสำหรับการดูแลรักษาผลผลิตทางการเกษตร เพราะหากมีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดการสูญเสียของผลผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ทั้งนี้คุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรจะต้องดีตั้งแต่ต้นน้ำคือในช่วงการเพาะปลูกไปจนกระทั้งช่วงปลายน้ำคือผู้บริโภคโดยอาศัยการจัดการคุณภาพในโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร ซึ่งจะต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สำคัญประกอบด้วยการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสรีรวิทยาของผลผลิตเกษตร การปฏิบัติที่ดีที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว การจัดการคุณภาพ การใช้เทคโนโลยีทางด้านบรรจุภัณฑ์ การควบคุมโรคและการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ และการจัดการด้านการตลาด ซี่งจะต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับผลิตผลทางการเกษตรและเพื่อการรักษาคุณภาพในการบริโภครวมถึงคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย จากข้อมูลที่ผ่านมาพบปัญหาในเรื่องคุณภาพในการบริโภคเนื่องจากการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์เป็นประเด็นที่สำคัญ โดยในปี 2563 พบสถานการณ์โรคติดต่อทางอาหารและน้ำในมีรายงานผู้ป่วยด้วย 5 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 414,545 ราย โรคอาหารเป็นพิษ 40,973 ราย โรคบิด 1,108 ราย โรคไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 220 ราย และอหิวาตกโรค 2 ราย ซึ่งบางรายถึงแก่ชีวิต จากปัญหาที่ได้กล่าวมาจึงจำเป็นต้องมีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของผลผลิตเกษตรที่ดีด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบการล้างที่สามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ นอกจากปัญหาด้านการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์แล้วยังพบว่าปัญหาการสุกและการเน่าเสียของสินค้าเกษตรที่เร็วเกินไปในระหว่างการเก็บรักษาและการขนส่งยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องมีการใช้ความรู้จากการวิจัยในการจัดการเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและวางจำหน่าย เช่น การใช้เทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยีการผลิตฟองก๊าซ 1-MCP ขนาดเล็ก เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ทางการเกษตรของประเทศไทยนั้นได้มีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยแต่ละแห่งมีผลิตผลทางการเกษตรที่มีความจำเพาะ อย่างไรก็ตามผักเป็นสินค้าเกษตรที่มีการปลูกในทุกท้องที่ดังนั้นจึงเป็นพืชหลักที่จะใช้เป็นต้นแบบในการถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งองค์ความรู้ที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพืชชนิดอื่นๆ ต่อไป สำหรับโครงการนี้ได้มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ในลักษณะ Train the Trainer ให้กับพื้นที่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืนของการเกษตรในพื้นที่ต่อไปในอนาคต ส่วนการคัดเลือกพื้นที่นั้นได้พิจารณาจากภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยการสัมภาษณ์ข้อมูลเบื้องต้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นซึ่งมีรายละเอียดของจังหวัดที่คัดเลือกดังนี้

พื้นที่จังหวัดพัทลุง (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณวิทยาเขตพัทลุง) ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดพัทลุงได้มีการเพิ่มพื้นที่การปลูกไม้ผลและผักที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทดแทนพื้นที่ยางพาราที่ลดลงเนื่องจากราคาที่ตกต่ำ โดยเน้นการผลิตไม้ผลเกรดพรีเมี่ยมคุณภาพดีได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด modern trade โรงแรมและโรงพยาบาล ภายใต้กระบวนการผลิตแบบ GAP และกำลังพัฒนาให้ก้าวไปสู่ระบบอินทรีย์ในอนาคต ทั้งนี้การพัฒนาเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐคือ Dragon farm โดยบริษัทโกลเด้น ดราก้อน ฟรุ้ต จำกัด การดำเนินงานของฟาร์มนี้ร่วมกับสำนักงานเกษตร จ.พัทลุง และเทศบาลตำบลท่าแค จ.พัทลุง ในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรและเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับเกษตรกรที่ต้องการพัฒนาทักษะในพื้นที่ ต.ท่าแค และเครือข่าย Young smart farmer ใน จ.พัทลุง หรือพื้นที่อื่นๆ  เข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้จริง นอกจากนี้ยังมีสหกรณ์การเกษตรพนมวังก์ จำกัด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการปลูกผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด โดยมีสมาชิกในกลุ่มกว่า 200 คน จะเห็นได้ว่าพื้นที่จังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติจริง และสร้าง Trainer สำหรับการถ่ายทอดและจัดการความรู้ไปสู่รุ่นต่อไปเพื่อความยั่งยืนของท้องถิ่น   สำหรับจังหวัดพัทลุงมีการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ สละ ละมุด ส้มโอทับทิมสยาม ส้มโอทองดี มะละกอ มะนาว และกล้วยหอม รวมทั้งการผลิตผักสลัด อย่างไรก็ตามยังประสบปัญหาการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสละและละมุดซึ่งเป็นไม้ผลที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากในจังหวัดพัทลุง (ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร จังหวัดพัทลุง) และผักสลัดชนิดต่างๆ ดังนั้นการใช้องค์ความรู้จากการวิจัยเพื่อการลดการสูญเสียจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

ข้อมูลเบื้องต้นจากกลุ่มภารกิจอุทยานวิทยาศาสตร์ สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดพัทลุง พบว่าผลผลิตของจังหวัดประสบปัญหาคุณภาพผลผลิตไม่ดี ไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดระดับสูงต้องการ และเกษตรกรหลายรายกำลังมุ่งเน้นอินทรีย์ ดังนั้นจะต้องใช้องค์ความรู้ในการจัดการตั้งแต่กระบวนการเก็บเกี่ยว การล้างทำความสะอาด การเก็บรักษาขณะรอขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ในการขนส่ง  ซึ่งการที่จะทำให้สินค้ามีคุณภาพดีเกรดพรีเมี่ยม และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคนั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญทั้งโซ่อุปทาน ได้แก่ การจัดการก่อนการเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป รวมทั้งระบบการตลาดที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผู้รับถ่ายทอดองค์ความรู้คือเครือข่าย Young smart farmer และกลุ่มสหกรณ์การเกษตรพนมวังก์ โดยเฉพาะในกลุ่มผักอินทรีย์ที่ต้องการวิธีจัดการที่เหมาะสม โดยกระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเช่น การล้างผักเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะสามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ (ข้อมูลจากงานวิจัย) และสิ่งปนเปื้อนต่างๆ เพื่อส่งเสริมในเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร ทั้งนี้ระบบการล้างด้วยเทคโนโลยีฟองอากาศขนาดไมโครที่เกิดจากงานวิจัยเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้แก่ผู้ประกอบการและชุมชนเพื่อลดปัญหาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้โครงการยังได้รับความร่วมมือจากศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (AIC) จังหวัดพัทลุง ที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้สำหรับการใช้ในพื้นที่ต่อไปในอนาคต 

พื้นที่จังหวัดเชียงราย เป็นตัวแทนของภูมิภาคภาคเหนือของประเทศเนื่องจากประชากรจำนวนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งประกอบไปด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพืช กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มป่าไม้ และการบริการทางการเกษตร โดยกิจกรรมด้านพืชนั้นมีสัดส่วนสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 90 สำหรับพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ลำไย ลิ้นจี่ ยางพารา และพืชผัก นอกจากนี้ ยังมีพืชเศรษฐกิจเฉพาะถิ่นได้แก่ ชา กาแฟ สับปะรด เป็นต้น ในปัจจุบันจังหวัดเชียงรายมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส ออร์แกนิค เชียงราย (เลขทะเบียนกลุ่ม CEI570101) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งสมาชิกทั้งหมด 26 ราย ผลิตผลที่ได้รับการรับรองต่อปีประกอบด้วย ผัก เช่น กะหล่ำปลี ผักตระกูลสลัด พริก จิงจูฉ่าย มะนาว คะน้า ผักบุ้ง ตะไคร้ พริกไทย ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว เป็นต้น ส่วนผลไม้ เช่น สับปะรดนางแล สับปะรดภูแล อะโวกาโด กล้วยน้ำว้า มะละกอ มะเขือเทศ ฟักข้าว เสาวรส เป็นต้น และ พืชหรือสัตว์อื่นๆเช่น ขิง ข่า ขมิ้น กระชาย กาแฟอะราบิก้า ไผ่หวาน หวายขาว ดอกเก๊กฮวย หมาก ฟ้าทะลายโจร หญ้าหวาน ไข่ไก่ เป็นต้น โดยสรุป ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2562 กลุ่ม พีจีเอส ออร์แกนิค เชียงราย มีกลุ่มย่อยจำนวน 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอำเภอเมือง กลุ่มอำเภอเทิง กลุ่มอำเภอพาน กลุ่มเหนือสุด กลุ่มอำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่ลาว อำเภอเวียงชัย และอำเภอแม่สรวย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการพัฒนา

ทั้งนี้ในจังหวัดเชียงรายนั้น ปัญหาทางด้านเกษตรที่ทราบจากการสัมภาษณ์นักวิจัยของสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงพบว่ามี 2 ประเด็นหลักๆ คือ 1) การปลูกผักสลัดโดยเฉพาะในกลุ่มผักอินทรีย์มีการผลิตในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเพื่อป้อนสู่ตลาด แต่ยังพบปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่มาจากดินส่งผลให้คุณภาพของผักลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าผักสลัดมีอายุการวางจำหน่ายสั้นซึ่งส่งผลต่อการขนส่งในระยะทางไกล ดังนั้นการใช้องค์ความรู้จากการวิจัยในเรื่องการล้างผักเพื่อลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์จึงมีความจำเป็น รวมทั้งองค์ความรู้การจัดการโซ่อุปทานหลังการเก็บเกี่ยวของผักสลัดจะมีประโยชน์ต่อชุมชนในการที่จะลดการสูญเสียและแก้ปัญหาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น และ 2) ในกลุ่มผลไม้นั้นสับปะรดเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้กับจังหวัดเชียงรายเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามพบว่าในการส่งออกสับปะรดประสบปัญหาการเหลืองของเปลือกสับปะรดซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศคู่ค้าไม่ต้องการ ดังนั้นการใช้องค์ความรู้ผสมผสานฟองก๊าซ 1-MCP ขนาดไมโครและ 1-MCP spray จะเป็นประโยชน์ต่อการชะลอการสูญเสียคุณภาพของสับปะรดโดยเฉพาะพันธุ์ภูแลที่ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจะเป็นหน่วยงานที่จะช่วยประสานงานและร่วมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนของกิจกรรมในอนาคต  

พื้นที่จังหวัดนครนายก ถือเป็นเขตภาคกลางที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเกษตร มีระยะทางจากกรุงเทพมหานครไม่มากนัก จากการสำรวจข้อมูลจากเอกสารและจากฐานข้อมูลที่สืบค้นได้พบว่าจังหวัดนครนายกเป็นจังหวัดที่มีประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่ง 1 ใน 4 ของประชากรเป็นครัวเรือนเกษตรกรรม มีจำนวน 26,042 ครัวเรือน หรือ เท่ากับร้อยละ 28.75 ของครัวเรือนทั้งหมด มีอาชีพหลัก ได้แก่ การเกษตรกรรม การปศุสัตว์ และการประมง มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 466,161 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 35.15 ของพื้นที่จังหวัด มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด รวมทั้งสิ้น 14,417 ล้านบาท เป็นมูลค่าในภาคการเกษตร 5,317 ล้านบาท (ร้อยละ 6.17) และมูลค่านอกภาคการเกษตร 13,286 ล้านบาท (ร้อยละ 90.01) อัตราการขยายตัวของมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว ร้อยละ 28.47 ซึ่งสาขาหลักที่มีมูลค่าสูงที่สุด ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม มีมูลค่า 5,317 ล้านบาท พื้นที่การปลูกพืชในจังหวัดนครนายกสามารถจำแนกเป็น 5 ประเภทหลัก คือ 1.พื้นที่ปลูกข้าว 2.พื้นที่ไม้ผล 3.พื้นที่ไม้ยืนต้น 4.พื้นที่ไม้ดอกไม้ประดับ 5.พื้นที่พืชอื่นๆ (ผัก,พืชไร่,สมุนไพร) โดยเรียงจำนวนพื้นที่จากมากไปหาน้อยตามลำดับ อันดับที่ 1 ก็คือการปลูกข้าวมีจำนวน 515,702 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 86.33 ของพื้นที่เกษตรกรรมของจังหวัด อันดับที่ 2 และ 3 ประกอบด้วยไม้ผลที่สำคัญ เช่น มะยงชิด มะม่วง มะนาว ส้มโอ กล้วยน้ำว้า กระท้อน มะปรางหวาน ทุเรียน มังคุด และอื่นๆ โดยมะยงชิดนับว่าเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้สูงสุดในกลุ่มถึง 796.37 ล้านบาท/ปี จากผลผลิต 3,748 ตัน เนื่องจากการทำสวนไม้ผลในจังหวัดส่วนใหญ่เป็นแบบสวนผสมผสาน ทำให้มีผลผลิตจากผลไม้ชนิดต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันออกตลอดทั้งปี  ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี อันดับที่ 4 การเพาะปลูกทั้งในลักษณะของไม้ชำถุง ชำกิ่ง ไม้กระถาง ไม้ตัดใบ รวมถึงไม้ประดับขุดล้อม และอันดับที่ 5 การเพาะปลูกพืชผักและสมุนไพรประมาณ 6,901 ไร่ ประกอบไปด้วย พืชผัก 4,073 ไร่ , พืชไร่ 1,715 ไร่ และสมุนไพร 1,112 ไร่ เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน ทั้งนำออกจำหน่ายภายในจังหวัดและพื้นที่จังหวัดข้างเคียง เช่น ตลาดปราจีนบุรี ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง โดยปลูกกันมากในพื้นที่อำเภอบ้านนา อำเภอเมืองนครนายก อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลี ตามลำดับ

สำหรับปัญหาทางด้านการเกษตรของจังหวัดนครนายกมีความคล้ายคลึงกันกับที่ได้กล่าวมาข้างต้นในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดเชียงราย คือการสูญเสียในเชิงคุณภาพและปริมาณภายหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้องค์ความรู้จากการวิจัยในการลดการสูญเสียและลดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ในกรณีของไม้ผลนั้นจังหวัดนครนายกมีการปลูกมะยงชิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งมะยงชิดเป็นผลไม้ที่ตอบสนองต่อก๊าซเอทิลีนจากภายนอกผลทำให้มีอายุการวางจำหน่ายสั้น ดังนั้นการใช้องค์ความรู้ด้านฟองก๊าซ 1-MCP ขนาดไมโครและ 1-MCP spray จะเป็นประโยชน์ต่อการชะลอการสูญเสียคุณภาพของมะยงชิดได้ สำหรับพืชผักนั้นเนื่องจากในจังหวัดนครนายกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการให้บริการจัดประชุมสัมมนา ที่พักและอาหาร ซึ่งมีการใช้ผักชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมากในการประกอบอาหารเพื่อการจัดเลี้ยงและจำหน่าย ขั้นตอนการล้างผักในกลุ่มผักที่บริโภคสดมีความสำคัญมากดังนั้นการใช้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการล้างผักและการเก็บรักษาจึงมีความสำคัญ ในพื้นที่จังหวัดนครนายกนั้นเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและยังมีศูนย์การเรียนรู้การเกษตรของภาคเอกชน ซึ่งสองหน่วยงานนี้สามารถที่จะนำเอาองค์ความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นการสร้างงานและรายได้ให้ชุมชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในอนาคต


คำสำคัญ

  • NIR
  • Ripening


กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์


ผลงานตีพิมพ์

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


อัพเดทล่าสุด 2025-07-02 ถึง 13:59