การผลิตเพปไทด์ออกฤทธิ์ทางชีวภาพขนาดโมเลกุลต่ำจากกากรำข้าวด้วยเอนไซม์สำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอาง


หัวหน้าโครงการ


ผู้ร่วมโครงการ

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


สมาชิกทีมคนอื่น ๆ


รายละเอียดโครงการ

วันที่เริ่มโครงการ01/10/2021

วันที่สิ้นสุดโครงการ30/09/2022


คำอธิบายโดยย่อ

ปัจจุบันมีการคิดค้นพัฒนาเพปไทด์ออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากโปรตีนพืชและสัตว์สำหรับใช้เป็นสารสำคัญ (active ingredient) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจำนวนมาก เนื่องจากเพปไทด์สายสั้น (low molecular weight peptide) สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ง่าย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant activity) อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้มีการสร้างใหม่ของคอลลาเจนและอีลาสตินอย่างเหมาะสม ทำให้ผิวหนังยืดหยุ่น แข็งแรง และเรียบเนียนขึ้น ชะลอไม่ให้ผิวเสื่อมสภาพ สารกลุ่มเพปไทค์ที่ใช้ในเครื่องสำอางในท้องตลาดมีทั้งเพปไทด์จากธรรมชาติที่ได้จากการสกัดพืชหรือสัตว์ และเพปไทด์สังเคราะห์ซึ่งเลียนแบบคอลลาเจนและอิลาสตินในผิวหนังมนุษย์ ซึ่งเพปไทด์จากแหล่งต่างๆ มีประสิทธิภาพลดริ้วรอยแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับลําดับกรดอะมิโนและกลไกการออกฤทธิ์ของเพปไทด์นั้นๆ อย่างไรก็ตามปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดธรรมชาติได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากเพปไทด์สกัดจากธรรมชาติส่วนใหญ่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและมีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับเพปไทด์สังเคราะห์ซึ่งมีราคาแพงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ข้าว (Oryza sativa L.) เป็นอีกแหล่งโปรตีนพืชที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเพปไทด์ออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เนื่องจากโปรตีนข้าวประกอบด้วยกรดอะมิโนและสารสำคัญที่มีสมบัติป้องกันอนุมูลอิสระในปริมาณสูง มีรายงานว่าเพปไทด์โปรตีนข้าวและกากรำข้าวที่ได้จากการไฮโดรไลซ์ด้วยเอนไซม์มีสมบัติต้านอนุมูลอิสระ สามารถจับกับโลหะ (metal chelating) เช่น Fe2+/Fe3+ และ Cu2+ ต้านการอักเสบ (anti-inflammatory) และยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (anti-tyrosinase) ซึ่งก่อให้เกิดจุดด่างดำบนผิวหนัง ดังนั้นงานวิจัยนี้ จึงนำเอากากรำข้าวขาวและข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ได้จากการสกัดน้ำมันซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือทิ้ง (by-product) จากกระบวนการผลิตข้าวขัดสีและน้ำมันรำข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ (function ingredient) ด้วยกระบวนการไฮโดรไลซ์ด้วยเอนไซม์ (enzymatic hydrolysis) ซึ่งเป็นนวัตกรรมสีเขียว (green technology) ปราศจากสารเคมี เอนไซม์มีความจำเพาะต่อสารตั้งต้น (substrate) หรือตำแหน่งกรดอะมิโนที่ต้องการตัดหรือไฮโดรไลซ์ ทำให้ได้โปรตีนไฮโดรไลซ์ที่มีคุณภาพและคุณสมบัติเชิงหน้าที่ตามต้องการ จากนั้นแยกเพปไทด์ด้วยเทคโนโลยีการกรองผ่านเมมเบรน (membrane ) แบบ Ultra Filtration ได้เพปไทด์จากกากรำข้าวขนาดโมเลกุลต่ำที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีประสิทธอภาพในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส และยับยั้งการทำลายคอลลาเจนและอีลาสติน ได้สารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่จากธรรมชาติชนิดใหม่ที่ปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง เป็นการลดการนำเข้าสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่จากต่างประเทศและยังเป็นการสร้างมูลค่าให้กับข้าวไทย


คำสำคัญ

  • กากรำข้าว
  • การไฮโดรไลซ์ด้วยเอนไซม์
  • เพปไทด์ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ
  • สารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่


กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์


ผลงานตีพิมพ์

ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


อัพเดทล่าสุด 2025-14-01 ถึง 09:49