การพัฒนานาโนอิมัลชั่นเพปไทด์ข้าวสำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับเส้นผม
หัวหน้าโครงการ
ผู้ร่วมโครงการ
สมาชิกทีมคนอื่น ๆ
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
รายละเอียดโครงการ
วันที่เริ่มโครงการ: 01/09/2022
วันที่สิ้นสุดโครงการ: 31/08/2023
คำอธิบายโดยย่อ
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แชมพูลดผมร่วงและเปลี่ยนสีผม เป็นเครื่องสำอางที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อย่างไรก็ตามสารเคมีและสีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์แชมพูเปลี่ยนสีผมส่วนใหญ่เป็นสารสังเคราะห์ที่อันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดการระคายเคือง การแพ้ต่อผิวหนัง ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดจากธรรมชาติมากขึ้น นอกจากสารสกัดจากพืช สมุนไพร และสัตว์ มีการคิดค้นพัฒนาเพปไทด์ออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากโปรตีนพืชและสัตว์สำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องแชมพูลดผมร่วงและเปลี่ยนสีผมจำนวนมาก เนื่องจากเพปไทด์สายสั้น (low molecular weight peptide) สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ง่าย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant activity) อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพช่วยบำรุงและกระตุ้นรากผมที่เกิดใหม่ให้มีความแข็งแรง ชะลอการหลุดร่วง สารกลุ่มเพปไทค์ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์แชมพูลดผมร่วงและเปลี่ยนสีผมในท้องตลาดมีทั้งเพปไทด์จากธรรมชาติที่ได้จากการสกัดพืชหรือสัตว์ และเพปไทด์สังเคราะห์ซึ่งเลียนแบบเคราตินในเส้นผมมนุษย์ ซึ่งเพปไทด์จากแหล่งต่างๆ มีประสิทธิภาพแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับลำดับกรดอะมิโนและกลไกการออกฤทธิ์ของเพปไทด์นั้นๆ
ข้าวเป็นอีกแหล่งโปรตีนพืชที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเพปไทด์ออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เนื่องจากโปรตีนไฮโดรไลเซทข้าวไรซ์เบอร์รี่ซึ่งมีสีม่วงดำของแอนโทไซยานิน ช่วยเปลี่ยนผมหงอกที่มีสีขาวให้กลับมาเป็นสีน้ำตาลเข้มได้ และโปรตีนข้าวประกอบด้วยเพปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพและสมบัติป้องกันอนุมูลอิสระในปริมาณสูง มีรายงานว่าเพปไทด์จากที่ได้จากโปรตีนข้าวและกากรำข้าวไฮโดรไลซ์ด้วยเอนไซม์มีสมบัติต้านอนุมูลอิสระ สามารถจับกับโลหะ (metal chelating) ต้านการอักเสบ (anti-inflammatory) และเพิ่มความชุ่มชื้นแก่หนังศรีษะลดการเกิดรังแค ดังนั้นงานวิจัยนี้ จึงนำเอากากรำข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ได้จากการสกัดน้ำมันซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือทิ้ง (by-product) จากกระบวนการผลิตข้าวขัดสีและน้ำมันรำข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ (function ingredient) ด้วยกระบวนการไฮโดรไลซ์ด้วยเอนไซม์ (enzymatic hydrolysis) ซึ่งเป็นนวัตกรรมสีเขียว (green technology) ปราศจากสารเคมี เอนไซม์มีความจำเพาะต่อสารตั้งต้น (substrate) หรือตำแหน่งกรดอะมิโนที่ต้องการตัดหรือไฮโดรไลซ์ ทำให้ได้โปรตีนไฮโดรไลซ์ที่มีคุณภาพและคุณสมบัติเชิงหน้าที่ตามต้องการ จากนั้นแยกเพปไทด์ด้วยเทคโนโลยีการกรองผ่านเมมเบรน (membrane ) แบบ Ultra filtration ได้เพปไทด์กากรำข้าวที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของเซลล์ต้นกำเนิดเส้นผม ตลอดจนงานวิจัยนี้ยังพัฒนาระบบนำส่งเพปไทด์ทางผิวหนัง โดยผลิตเพปไทด์จากกากรำข้าวไรซ์เบอร์รี่ให้อยู่ในรูปไขมันขนาดนาโนอิมัลชัน (nanoemulsion) เพื่อเพิ่มความคงตัวของเพปไทด์และเพิ่มประสิทธิภาพในการนำเพปไทด์สู่ผิวหนังหรือจับกับเคราตินในเส้นผม ได้ผลิตภัณฑ์เพปไทด์จากกากรำข้าวไรซ์เบอร์รี่มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ต่อเซลล์เป้าหมายมากยิ่งขึ้น เป็นสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (active ingredient) จากธรรมชาติชนิดใหม่ที่ปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง เป็นการลดการนำเข้าสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่จากต่างประเทศและยังเป็นการสร้างมูลค่าให้กับข้าวไทย
คำสำคัญ
- นาโนอิมัลชัน
- เพปไทด์ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ
- สารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่
กลุ่มสาขาการวิจัยเชิงกลยุทธ์
ผลงานตีพิมพ์
ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง